วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับมอบหมายจากครม.และนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาแนวทางการใช้สื่อบันเทิงเพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศในลักษณะ Soft Power เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในวาระต่าง ๆ ส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีและวัฒนธรรมประเพณีไทย โดยมีการรายงานต่อ ครม. เป็นระยะนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ ครม. เรื่อง การนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศในลักษณะ Soft Power
โดยวธ.ได้ศึกษาและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นควรกำหนดแนวทางการนำเสนอเพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนา พอสังเขป ดังนี้
1. การส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน ลงวันที่ 20 มกราคม 2565 เพื่อศึกษา วิเคราะห์ เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ กำหนดมาตรการแนวทางและสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power
2. การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ ระยะเวลาและเป้าหมายขับเคลื่อนงาน การใช้สื่อบันเทิงนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามพันธกิจของหน่วยงาน รวมทั้งเตรียมมาตรการลดหย่อนภาษีหรือมาตรการทางการเงินจูงใจให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า บริการ ซึ่งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงฯ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการและรับผิดชอบดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนฯ ต่อไป
รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ครม.รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม ประกอบด้วย
1.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าบริการทางวัฒนธรรม ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ฯลฯ
2.การจัดทำ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อใช้เป็นแผนแกนกลางของการขับเคลื่อนงาน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ
การศึกษาและจัดทำจุดยืนของประเทศไทยในการขับเคลื่อน Soft Power (Thailand’s Soft Power Positioning) หรือการสร้างอัตลักษณ์ด้าน Soft Power ของประเทศไทย (Nation Branding) เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาของประชาคมโลก ,การกำหนดภาพรวมคุณค่า (Value) และเนื้อหาให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม , การบูรณาการทุกภาคส่วนศึกษาวิจัยและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้อง จัดทำดัชนีชี้วัดด้าน Soft Power ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ของโลก , ศึกษาแนวโน้มและสภาพการตลาดของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพในการเป็น Soft Power , การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การพัฒนา กลยุทธ์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ รวมถึงโครงการสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนา Soft Power ของประเทศไทย เป็นต้น