กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 41

วันที่ 25 มิถุนาย 2562 (ตามเวลาท้องถิ่น) อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบหมายให้นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the 41st Session of the Human Rights Council) ครั้งที่ 41ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานสหประชาขาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือร่วมกับ Professor Surya Deva ประธานคณะทำงานสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights) และคณะ เกี่ยวกับพัฒนาการการดำเนินงานของประเทศไทยในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รายงานการเยือนประเทศไทยของคณะทำงานสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พัฒนาการของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีความตื่นตัวไปการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงได้หารือเรื่องการผลักดันประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ในการนี้ คณะทำงานสหประชาชาติฯ ได้ชื่นชมการทำงานของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนั้น รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในช่วงการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาพรวมของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Human Rights) ซึ่งประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศไทยต่อที่ประชุม โดยกล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตย การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร การสานต่อการทำงานจากรัฐบาลเก่าโดยมุ่งเน้นบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พัฒนาการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ และการต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU Fishing Report) ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง หน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนานาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยได้ยืนยันการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศต่อไป