“กนอ.” ผนึก “เอสซีจี ซิเมนต์” ลงนามความร่วมมือโครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์”

ระยอง – การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) -เอสซีจี ซิเมนต์ ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์” (Eco World Class with Circular Economy Concept) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้ตระหนักถึงปัญหามลพิษจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม (Industrial Waste) พร้อมกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ “เอสซีจี ซิเมนต์” ในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเดินหน้ายกระดับการบริหารจัดการ บนพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ดึงเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับ แอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้กำจัด Industrial Waste เป็นแห่งแรกในอาเซียน โดยสามารถรองรับได้ทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย มีการดำเนินงานเป็นแบบระบบปิดและควบคุมทุกขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด ตั้งเป้าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัด Industrial Waste ที่ถูกต้อง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันที่ 26 มิ.ย.2562 ว่า กนอ. และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด (SCG) ได้ร่วมกัน “ลงนามความร่วมมือเพื่อแสดงเจตจำนงด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม” และเปิดโครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์” (Eco World Class with Circular Economy Concept) เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดกากอุตสาหกรรมและนำกลับไปใช้ใหม่ ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกให้มีการบริหารจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอย่างยั่งยืน “ปัจจุบันปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมยังมีการบริหารจัดการยังไม่ถูกวิธี และยังมีกากอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นความร่วมมือกันใน
ครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้มีการบริหารจัดการกากของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตไปสู่การบริหารจัดการที่นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างแท้จริง” น.ส. สมจิณณ์ กล่าว

ทั้งนี้โครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์” (Eco World Class with Circular Economy Concept) ที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ กนอ. และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด จะร่วมกันปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนเป็นพลังไฟฟ้า ผ่านการทำงานของโรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้า บริษัท เอสซีจีฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาในพื้นที่ท่าเรือเฉพาะกิจมาบตาพุด จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ดำเนินการได้ปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นการกำจัดที่ถูกวิธีตามหลักสากล ตอบโจทย์ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่ต้องการปฏิบัติการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถูกกฎหมายในอนาคตต่อไป

นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี เดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันยังเดินหน้านโยบาย Zero Waste to Landfill โดยไม่กำจัดวัสดุเหลือใช้ด้วยการฝังกลบมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ผนึกความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อแสดงเจตจำนงด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการกำจัด Industrial Waste ตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน “มาบตาพุด จ.ระยอง ถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่นี้มีปริมาณ Industrial Waste สูง ดังนั้น เอสซีจี ซิเมนต์ ในฐานะผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านการกำจัด Industrial Waste ด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์มายาวนานกว่า 20 ปี จึงนำมาพัฒนาต่อยอด ยกระดับการบริหารจัดการ Industrial Waste ซึ่งเราใช้เวลากว่า 3 ปี โดยร่วมกับการนิคมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชนมาบตาพุด ศึกษาความเป็นได้ในการพัฒนา ‘โรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้า’ ที่ตรงตามข้อกำหนดกฏหมาย สอดรับกับนโยบายภาครัฐ และแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีมาตรฐานระดับโลก บนพื้นที่ 15 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียนมาใช้ในโรงงานแห่งนี้ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัด Industrial Waste ที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการในโซนภาคตะวันออก ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทั้งนี้จะพร้อมรับกำจัด Industrial Waste จากผู้ประกอบการได้ในปลายปี 2562”


นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า “โรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ ดำเนินการก่อสร้างด้วยหลักการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain) และจะนำเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท โคเบลโก้ อีโค โซลูชั่น (Kobelco Eco-Solutions) จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับมากว่า 15 ปี มาใช้ในการกำจัด Industrial Waste ด้วยกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งสามารถรองรับ Industrial Waste ได้หลากหลายประเภทและขนาด ทั้งชนิดอันตรายและไม่เป็นอันตราย ทั้งนี้กระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะเป็นแบบระบบปิด มีระบบควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับ Industrial Waste จากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้สามารถกำจัด Industrial Waste ได้ถึง 65,000 ตันต่อปี โดยกระบวนการนี้ทำให้ไม่เหลือ Industrial Waste ที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

###