นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ อาทิ Citi -7.5%, Well Fargo -7.1%, Bank of America -5.8% ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ หลังการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และเฟดจะออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ ดังกล่าว ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ (จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสถึง 35%) และการขึ้นดอกเบี้ยอาจแตะระดับสูงสุดไม่เกิน 5.00% ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น (Microsoft +2.1%, Amazon +1.9%, Apple +1.3%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.45% ในขณะที่ S&P500 ปิดตลาด -0.15%
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงหนักกว่า -2.42% ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นกับบรรดาธนาคารยุโรปได้เช่นกัน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS -7.7%, Intesa Sanpaolo -6.1%, Santander -5.7%) เพื่อลดความเสี่ยงต่อพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดกอเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้ากลับเข้ามาถือหุ้นเทคฯ หรือ หุ้นสไตล์ Growth (Kering -4.1%, ASML -2.2%, Adyen -1.7%)
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 3.40% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.56% ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้สะท้อนถึงความผันผวนในตลาดบอนด์ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจขายทำกำไรในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นยังไม่จบหรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดก็เลือกจะถือทองคำ หรือ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าจะถือเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.7 จุด อย่างไรก็ดี เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว Sideways และมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) พุ่งขึ้นทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ สู่ระดับ 1,917 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ยังคงอยู่ที่ระดับ +0.4%m/m หรือคิดเป็น +6.0%y/y และ +5.5%y/y ตามลำดับ ซึ่งเราประเมินว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือน้อยกว่าคาด และเมื่อคำนึงถึงปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น จากการปิดตัวลงของธนาคาร SVB ก็ยิ่งทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% แต่เราประเมินว่า ถ้าปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ ไม่ได้น่ากังวลมาก เฟดก็อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับ 5.50% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ และในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งขึ้นสูงกว่าคาด เช่น +0.5%m/m เราก็ประเมินว่า เฟดอาจเลือกทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ +0.25% ตามเดิม มากกว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ นั้นไม่ได้น่ากังวลมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการประเมินและติดตามสถานการณ์ และหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอลง เราคาดว่า เฟดก็สามารถที่จะปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นได้ในการประชุมครั้งถัดๆ ไปได้ หลังประเมินความเสี่ยงในระบบธนาคารเป็นที่เรียบร้อย
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลกระทบจากการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ว่าจะส่งผลต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และระบบธนาคารในภูมิภาคอื่นๆ หรือไม่ หลังจากที่ล่าสุดทางการสหรัฐฯ และเฟดได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งเราประเมินว่า อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Bank Run และจะช่วยทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ลุกลามจนทำให้ระบบธนาคารสหรัฐฯ มีปัญหารุนแรงได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
อนึ่ง เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาท (รวมถึงเกือบทุกสินทรัพย์) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนหนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ นอกจากนี้ ความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดได้สร้างความกังวลต่อระบบธนาคารในหลายภูมิภาค ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง และมีโอกาสที่จะเห็นแรงขายหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั่วโลก ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายบอนด์ไทยได้เช่นกัน ซึ่งเราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าหนัก เพราะยังพอมีแรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอยู่ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)