วันที่ 25 มิถุนายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนากลไกการดำเนินงานสุขภาพจิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้ระบบบริการปฐมภูมิ “พชอ.ร่วมคิด สุขภาพจิตร่วมใจ คนไทย มีความสุข” ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร ว่า จากนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย โดยจะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณชีวิตระดับเขต (พชข.) เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้บูรณาการการดำเนินงานสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสอดรับกับพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการดูแลแบบองค์รวม ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย “ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” ด้วย 3 หัวใจสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ 1. การให้ความสำคัญกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง 2. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยกลไก พชอ. ที่รวมถึงประชาชนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตนเองเป็นเจ้าของกิจกรรม และเกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และ 3. การเชื่อมโยงงานสุขภาพจิตให้เข้ากับปัญหาสำคัญของชุมชน โดยมีกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต และศูนย์สุขภาพจิต ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีอำเภอและเขตในกทม. เข้าร่วมบูรณาการการดำเนินงาน 927 แห่ง จาก 928 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 99.89 และพบว่า ร้อยละ 87 ของเครือข่ายในระบบสุขภาพอำเภอ มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบูรณาการงานสุขภาพจิต ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญ สามารถเชื่อมโยงงานสุขภาพจิตเข้ากับพชอ.ได้ นำไปสู่การทำงานอย่างบูรณาการครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในเนื้อเดียวกัน โดยประเด็นสำคัญที่มีการนำงานสุขภาพจิตมาบูรณาการร่วมด้วย 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยระยะยาว (Long Term Care) รองลงมา คือ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน และสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ ส่วนใหญ่ดำเนินการในกลุ่มวัยทำงาน รองลงมา คือ วัยสูงอายุ และกลุ่มวัยรุ่น ตามลำดับ ขณะที่ประเด็นสุขภาพจิตที่ พชอ. นำมาบูรณาการในการดำเนินงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความเครียด รองลงมาคือ ความสุข และซึมเศร้า ตามลำดับ และในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลเพื่อยกย่องและเชิดชู 39 เครือข่ายสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่โดดเด่น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ต้นแบบการบูรณาการงานสุขภาพจิตร่วมกับ พชอ.ที่โดดเด่น 2. การบูรณาการงานสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย (เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียนวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน) ร่วมกับ พชอ.ที่โดดเด่น และ 3. นวัตกรรมสุขภาพจิตชุมชนที่บูรณาการงานสุขภาพจิตร่วมกับ พชอ.ที่โดดเด่น
ด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. เพื่อเป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการประเด็นสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย นำเสนอผลการดำเนินงานสุขภาพจิตในมิติของการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระดับประเทศ ตลอดจนเป็นการยกย่องเชิดชูเครือข่ายสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่ดีเยี่ยมและเป็นต้นแบบให้กับภาคีเครือข่ายในการประยุกต์งานสุขภาพจิตเข้ากับการดำเนินงานภายใต้ระบบสุขภาพอำเภอ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมสุขภาพจิต บุคลากรจากศูนย์สุขภาพจิต เครือข่ายสุขภาพอำเภอจากทั่วประเทศ แกนนำชุมชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 600 คน ตลอดจนมีการนำเสนอผลงานและนิทรรศการ รวมทั้งนวัตกรรมของชุมชนที่น่าสนใจ
สำหรับนวัตกรรมสุขภาพจิตที่น่าสนใจ อาทิ “นวัตกรรม ดนตรีสร้างสุขในชมรมผู้สูงอายุ” ของเครือข่าย อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ โดยการใช้อังกะลุงมาเป็นเครื่องดนตรีที่ประยุกต์เข้ากับกิจกรรมสร้างสุข 5 มิติ โดยภายหลังทำกิจกรรมพบว่า ผู้สูงอายุ มีระดับความเครียดในระดับน้อยหรือแทบไม่มีเลย ในช่วงคะแนน 0-4 อยู่ที่ร้อยละ 92.30 และจากการวัดผลโดยใช้ปรอทวัดความสุข วัดระดับความสุขหลังการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่า มีความสุข เฉลี่ยร้อยละ 99.64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.99 จากก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม, “นวัตกรรม การเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายสำเร็จ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” อ.สามง่าม จ.พิจิตร เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาร่วมกันกำหนดแผนการป้องกันการฆ่าตัวตาย และสร้างให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยพบว่า จากเดิมปัญหาการฆ่าตัวตายสำเร็จมีอัตราเกินเกณฑ์ติดต่อกัน 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2559-2561) คิดเป็นอัตรา 10.54, 9.40, 9.40 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในปี พ.ศ.2562 มีอัตราลดลงเหลือเพียง 4.71 ต่อประชากรแสนคน, “นวัตกรรม มหกรรมสร้างสุขทั้งอำเภอ เพื่อเธอผู้สูงอายุ บางขัน” อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในระดับดี ลดความเหลื่อมล้ำ มีอาชีพมีรายได้ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความสนุก มีความสุขเพิ่มขึ้น และจากการใช้เครื่องมือสร้างสุข 5 มิติ พบว่า ผู้สูงอายุ มีระดับความสุขในระดับมากหลังเข้าร่วมกิจกรรม สถิติอัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุลดลง เป็นต้น ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าว