นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรม อันประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีประเพณี เทศกาล ความเชื่อ ความศรัทธาทางศาสนา ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือ ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความงดงามของแต่ละภูมิภาค โดยตลอดทั้งปี จะมีงานประเพณีและเทศกาลที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ล้วนสร้างความประทับใจ ความสุข สนุกสนาน เต็มไปด้วยเสน่ห์ความงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต่างๆ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสวธ. จึงร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ซีซั่น 1 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนไทยได้มีส่วนร่วมในการสืบสาน เผยแพร่คุณค่ารวมถึงความงามของประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ จากทั่วประเทศ
นายโกวิท เปิดเผยต่อว่า “ภาพถ่าย” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารที่มีพลังสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรม ถ่ายทอดความงดงามของแต่ละประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนในมุมมองที่แตกต่างกันได้อย่างอัศจรรย์ และสื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสและเปิดประสบการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจ กิจกรรมการประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมภาพถ่ายประเพณีและเทศกาลทั่วประเทศที่มีคุณภาพ สวยงาม ที่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในการร่วมอนุรักษ์สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนในประเทศได้ร่วมภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่คุณค่าสาระความงดงามของประเพณีไทยสู่นานาชาติได้เป็นอย่างดียิ่งต่อไป
การประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ซีซั่น 1 นี้ มีกำหนดจัดในระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 66 แบ่งการประกวดเป็น 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 การประกวดภาพประเพณีระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน 66 ประกอบด้วยงานประเพณีตามรายชื่อที่กำหนดในประกาศจัดการประกวด อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ทั่วประเทศ ประเพณีแห่นางดาน จ.นครศรีธรรมราช ประเพณีกองข้าวศรีราชา จ.ชลบุรี ประเพณีแห่พญายมบางพระ จ.ชลบุรี ประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กรุงเทพมหานคร ประเพณีบุญบั้งไฟ ภาคอีสาน งานบวชนาคช้าง จ.สุรินทร์ ประเพณีการละเล่นผีตาโขน จ.เลย วันอัฏฐมีบูชา จ.นครปฐม-อุตรดิตถ์-กรุงเทพมหานคร ประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคู จ.กาฬสินธุ์ ประเพณีเกี่ยวกับการทำขวัญข้าวทั่วประเทศ
และในการประกวด ครั้งที่ 2 เป็นภาพประเพณีระหว่าง กรกฎาคม – เดือนกันยายน ๖๖ อาทิ ประเพณีลงเล ภาคใต้ ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จ.สระบุรี ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จ.พะเยา ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางบก-ทางน้ำ ทั่วประเทศ ประเพณีโล้ชิงช้าชาวไทยภูเขา เผ่าอาข่า จ.เชียงราย เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จ.เพชรบุรี เวียนเทียนกลางน้ำกว๊านพะเยา จ.พะเยา ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน จ.ลำพูน ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาคใต้ ประเพณีแข่งเรือ ทั่วประเทศ
อธิบดีสวธ. ยังเปิดเผยอีกว่า การประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ ประเพณีสงกรานต์ทั่วประเทศ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย ที่องค์การยูเนสโก ได้รับเข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ณ สาธารณรัฐบอตสวานา กิจกรรมการประกวดนี้ จึงมีส่วนส่งเสริม สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสานคุณค่าสาระ และเผยแพร่ความงดงามของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยสู่นานาชาติได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ช่างภาพทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดกติกา หลักเกณฑ์การส่งภาพประกวด ได้ทางเว็บไซด์ www.rpst.or.th สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ www.culture.go.th / แฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม