วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารความยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ร่วมกับ ผู้แทนส่วนราชการอีกกว่า 20 กระทรวง เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมี ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัด นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาคีเครือข่ายผู้เข้าร่วมงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับภายในงานมีการนำเสนอแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคมในด้านต่าง ๆ โดยนักวิชาการ ศิลปินและนักขับเคลื่อนทางสังคม ได้แก่ รศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ที่ปรึกษาการยกร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 คุณนรพันธ์ ทองเชื่อม นำเสนอประเด็นใหม่ที่ปรากฏในแผนกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช คุณกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ คุณกัน จอมพลัง นักธุรกิจที่มีความสนใจประเด็นด้านการช่วยเหลือสังคม และ คุณซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ ศิลปินกับมุมมองของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่าน Facebook Fanpage กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ตลอดจนเชิญหน่วยงานที่มีผลงานเด่นจากขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 มาร่วมจัดแสดงบูธนิทรรศการนำเสนอผลงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ดำเนินงานเรื่องพัฒนาดิจิทัลสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ การเคหะแห่งชาติ ที่ดำเนินการปรับปรุงบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย กรมสรรพากร ที่ใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจ้างงาน คนพิการและผู้สูงอายุ กรมการพัฒนาชุมชน ที่ดำเนินโครงการโคกหนองนาโมเดล และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ดำเนินการลบประวัติอาชญากรเด็กและการเบี่ยงเบนคดีเด็กออกจากกระบวนการยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิฯ ที่ดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการเคารพสิทธิ ฯลฯ
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 5 ในครั้งนี้ จะสามารถเป็นพลังผลักดันและสร้างแรงขับเคลื่อนในงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งได้ต่อไป