วธ.รวมพลังกว่า 30 หน่วยงาน จัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สุดยิ่งใหญ่ 21 – 25 เมษายน 2566 ณ รอบเกาะรัตนโกสินทร์

วธ.รวมพลังกว่า 30 หน่วยงาน จัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สุดยิ่งใหญ่ 21 – 25 เมษายน 2566 ณ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งบอร์ดคณะกรรมการขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ เตรียมกิจกรรมสุดอลังการ ทั้งด้านศาสนา ศิลปะการแสดง เปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ ตลาดย้อนยุค จำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ประกวดภาพถ่าย เสวนาวิชาการ ทำบุญไหว้พระ พร้อมบริการจัดรถขสมก. รับส่งฟรีตลอดงาน เน้นให้ความรู้เด็ก เยาวชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรม สร้างรายได้ ให้ประเทศ

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ คณะสงฆ์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การไฟฟ้านครหลวง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประปานครหลวง สำนักงานเขตพระนคร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งที่ได้ทรงนำพาประเทศชาติให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบันครบ 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ซึ่งได้แจ้งในที่ประชุมรับทราบว่าปีนี้รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน 2566 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ และสร้างการรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวจากมรดกศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อให้การจัดงานดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมไทย จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธาน และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่ายินดีว่าผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กว่า 30 หน่วยงาน พร้อมให้ความร่วมมือบูรณาการ จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ตระการตา พร้อมสนับสนุนในเรื่องของสถานที่จัดกิจกรรม สถานที่สำคัญที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม รวมไปถึงร่วมอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง น้ำดื่ม การประชาสัมพันธ์งานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ทุกช่องทางของแต่ละหน่วยงาน  โดยที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแนวทางและรูปแบบการจัดงานที่สำคัญ ได้แก่

1.พิธีทางศาสนา ประกอบด้วย  วันที่ 20 เมษายน 2566 พิธีบวงสรวงเทพยดา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ วันที่ 21 เมษายน 2566 พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ และพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง

2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ ประกอบด้วย พิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ การตั้งพระบรมฉายาลักษณ์และติดตั้งเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night Museum) การสาธิตอาหารไทยโบราณ ในรูปแบบตลาดย้อนยุค การจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand : CPOT / ของดี 50 เขต กทม. จุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน

3. สวนสันติชัยปราการ ประกอบด้วย การแสดงมัลติมีเดีย ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงอุโมงค์ไฟเรืองแสง ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2566 และนิทรรศการสวนแสงจัดแสดงพระราชประวัติ 10 รัชกาล จัดฉายหนังกลางแปลง การแสดงวงดุริยางค์จากเครือข่ายเยาวชนไทย

4.หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ประกอบด้วย การประกวดภาพถ่ายกิจกรรมงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สาธิตและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย กิจกรรมชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

5. มิวเซียมสยาม ประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ และการจัดนิทรรศการ/กิจกรรมที่สอดคล้องกับการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

6. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประกอบด้วย งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพร ย้อนวันวาน สารพันอาหาร ย่านกะดีจีน –คลองสาน ภายใต้งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

7. พิพิธบางลำพู ประกอบด้วย เข้าชมพิพิธบางลำพู โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน (ไกด์เด็กบางลำพู) เช่น Workshop งานประดิษฐ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมเด็กและเยาวชน

8. พื้นที่จัดกิจกรรมอื่น ๆ อีก 20 แห่ง โดยเปิดให้ประชาชนทำบุญไหว้พระ และเข้าชมแหล่งเรียนรู้ โดยจัดรถขสมก.และรถรางนำชม บริการรับ – ส่ง ตามจุดเยี่ยมชมต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม โทร. 1765