นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการให้ความคุ้มครองและดูแลผู้ประกันตนในกรณีทุพพลภาพว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจนเป็นเหตุให้สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกายหรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ และเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพ สามารถขอรับสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพจากสำนักงานประกันสังคมได้ โดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเกิดสิทธิ ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพจะได้รับคือ เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพรุนแรงจะได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศกำหนด สำหรับเรื่องค่าบริการทางการแพทย์ ในกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล คำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรค (DRGs) ในส่วนกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท และในส่วนของค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพตามหลักเกณฑ์ประกาศฯกำหนด สำหรับในกรณีที่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท พร้อมเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย สำหรับเอกสารในการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพนั้น ผู้ประกันตนต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) ใบรับรองแพทย์ระบุว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพ พร้อมสำเนาเวชระเบียน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 พร้อมให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ศูนย์สารนเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน