รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
การประปาส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ เตรียมรับมือภัยแล้งและกำหนดนโยบายการทำงานบริการประชาชน และตรวจระบบผลิตน้ำ RO (REVERSE OSMOSIS) ณ สถานีผลิตน้ำพรุกระจูด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้อ่าวไทยตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง ในวันที่ 2–5 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย กับมีลมแรง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,020 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,258 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,623 ล้าน ลบ.ม. (71%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9, 917 ล้าน ลบ.ม. (55%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,264 ล้าน ลบ.ม. (55%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,056 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,021 ล้าน ลบ.ม. (58%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการจิตอาสาช่วยพระบิดาปฏิบัติการฝนหลวง ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้อาสาสมัครฝนหลวง มีความรู้ ความเข้าใจในโครงการพระราชดำริฝนหลวง และความรู้พื้นฐานของการปฏิบัติการฝนหลวง การบริการฝนหลวงในพื้นที่รับผิดชอบและให้ความรู้แก่ชุมชนได้อย่างถูกต้อง สร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครฝนหลวง ในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และการทำงานเป็นเครือข่ายของอาสาสมัครฝนหลวงประจำภาค ต่อไป