สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดงาน “Andaman Craft Festival” 12 มีนาคมนี้ ที่ จ.ภูเก็ต ชูจุดขายสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ พร้อมดึง “บัวขาว” และ “แอนนา เสือ” เปิดตัวกางเกงมวยผ้าไหมไทยซึ่งผลิตจากผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาผสานงานปักสะดึงกรึงไหมฝีมือชั้นบรมครู หวังกระตุ้นตลาดสินค้าของที่ระลึกภาคใต้ โกยเม็ดเงินกว่า 2 พันล้านบาท
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบาย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศ ในด้านความ เป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้า (Soft Power) ที่สร้างความแตกต่างในตลาด ภาคธุรกิจการค้าจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าไทยมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับขณะนี้กระแสการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ดำเนินการส่งเสริมภาค การท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทย หรือ “Craft Power” ดึงเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดทางการค้าและสร้างความหลากหลายทางการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เป็นของขวัญ ของฝากและของที่ระลึก ทั้งภายในงานเองและตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย
นับเป็นการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เกิดการกระจายรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำถึงการสร้างตลาดของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ยั่งยืนว่า ได้มอบให้ sacit เร่งขยายกลุ่มผู้ซื้อให้กว้างขึ้น สร้างวัฒนธรรมงานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยอาศัยความบันเทิงเป็นเครื่องมือพร้อมกับการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ เพื่อให้เกิดภาพจำของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน เกิดการมีส่วนร่วม ใกล้ชิด อันจะนำมาสู่การบริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปลูกฝังให้เห็นถึงคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทย เกิดความรักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญา อันเป็นอัตลักษณ์ของชาติให้คงอยู่โดยไม่สูญหาย
นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า sacit นำแนวคิด Soft Power มาจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ “Andaman Craft Festival” ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 ณ ลานมังกร จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “Hand on the smile with Thai Craft” มอบรอยยิ้มและความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนด้วยงานศิลปหัตถกรรมไทยและความเป็นมิตรของคนไทย ด้วยว่าหัตถศิลป์ไทยมีความสวยงาม ทรงคุณค่าในภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน ขณะเดียวกันยังเป็นการแบ่งปันรอยยิ้มและสร้างความสุขให้แก่ชาวบ้านและชุมชนที่ได้มีงานทำ มีรายได้จากการทำงานศิลปหัตถกรรมไทยเลี้ยงชีพ สะท้อนพลังของ Soft Power ที่สามารถสร้างความประทับใจและเป็นจุดขายของประเทศได้
ไฮไลท์คือการเปิดตัว “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ครั้งแรกในโลก ผลิตจากผ้าไหมของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหม ที่มีมาแต่โบราณ ในเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ชั้นสูง ด้วยกระบวนการที่ละเอียดและซับซ้อน เช่น การปักหนุน การปักเดินเส้นการปักทึบ การปักซอย โดยใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ถือเป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ฝีมือของครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2565 ของ sacit สร้างสรรค์เป็นกางเกงมวยที่งดงามวิจิตรบรรจงและมีตัวเดียวในโลก พร้อมกันนี้ยังได้ทดสอบตลาดผ่านสินค้า “กางเกงมวยไทย…ผ้าทอไทย” ซึ่งผลิตจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนผ้าทออู่ทอง และผ้าขาวม้าทอมือจากชุมชนผ้าทอเมืองเหน่อ จ.สุพรรณบุรี ภายใต้การนำของ ครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 ของ sacit ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นหัตถกรรมไทย ซึ่งเชื่อมโยงทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการสร้างให้เกิดวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มคน รุ่นใหม่ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย และสามารถสร้างการรับรู้ไปยังสาธารณชนได้เป็นจำนวนมาก
ภายในงานพบกับ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักชกแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยและเป็นที่รู้จักในระดับโลก ที่มาสร้างพลัง “Craft Power” ให้กับวงการงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ประจักษ์ / ภาคภูมิใจไปกับแฟชั่นโชว์ผ้าไทยร่วมสมัยสุดอลังการ สะท้อนความสวยงามของผ้าไทยในดีไซน์ที่ทันสมัย และเชื่อมโยงศิลปหัตถกรรมไทยกับแฟชั่น ให้เป็นแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน เพราะชุดที่นำมาจะใช้เนื้อผ้าที่ทอมาจากธรรมชาติ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากนางแบบนายแบบนำโดย “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่เคยสร้างความประทับใจบนเวที Miss Universe มาแล้ว ในครั้งนี้จะมาสะบัดลวดลายขึ้นเวทีอีกครั้งด้วยความสง่างามของผ้าไทย / ร่วมชื่นชมพลังของคนตัวเล็ก น้องกานพลู ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา ตังตึงเด็กภูเก็ตที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยกล่าวสุนทรพจน์ขึ้นบนเวทีระดับโลกมาแล้ว จะมานำเสนอมุมมอง “พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกดิจิทัล” / ตื่นตาตื่นใจ ไปกับขบวนพาเหรดผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น นำโดย “ไฮดี้ อมันดา” Miss Grand จังหวัดภูเก็ต และน้องๆ สาวใต้ตาคมจากสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่จะมาสร้างสีสันให้ถนนคนเดินภูเก็ตสนุกสนานและเปี่ยมด้วยพลังงานคราฟต์ไทย /เพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้งงานศิลปหัตถกรรมไทยและงานหัตถกรรมพื้นถิ่นจากผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยกว่า 30 ร้าน ร่วมพิสูจน์ความสามารถด้านงานคราฟต์ใน Workshop DIY งานทำมือเก๋ๆ ร่วมสนุกทดลองทำทดลองชิมกับเมนูอาหารไทย ซึ่งถือว่าเป็นเมนูอาหารซอฟท์พาวเวอร์ ยอดฮิตติดอันดับโลก ได้แก่ ผัดไทย-ส้มตำ-ขนมครก-ชาเย็น รวมทั้งลองเล่นการละเล่นแบบไทยที่ต้องหลงรัก ทั้งมวยไทยไชยา และการเดินกะลา เตรียมอัพรูปลงโซเชียลก่อนใครกับจุด Check in โดนใจวัยใสด้วยมุมถ่ายภาพ Craft Photo ใน Theme ชิโนโปรตุกีส , สีสันของมลายูว่าวเบอร์อามัส , กางจ้องแดงมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา, โดมผ้าบาติก คัลเลอร์ฟูล โดยช่างภาพมืออาชีพพร้อม Prop สวยๆอีกเพียบ ร่วมให้กำลังใจ วง มอซอ วงดนตรีเยาวชนภูเก็ตที่เคยกวาดรางวัลบนเวทีการประกวดดนตรีระดับประเทศมาแล้ว / พลาดไม่ได้กับคอนเสิร์ตจากทัพศิลปิน ชื่อดัง คนรุ่นใหม่ อาทิ วง MEAN , SPRITE , วง BAMM , เบล วริศรา และ วาดฟ้า ไชยทัพ
ด้าน ครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 ของ sacit กล่าวว่างานปักสะดึงกรึงไหมที่สร้างสรรค์ลงบนกางเกงมวยผ้าไหมไทยนั้น เป็นงานที่มีมาแต่โบราณ งดงามและมีคุณค่ายิ่ง เป็นงานที่ใช้ ในนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ส่วนใหญ่จะพบได้ในงานปักชุดโขน หรืองานปักสไบแบบโบราณ ซึ่งเทคนิคการปักสะดึงกรึงไหมแบบดั้งเดิมนั้น เป็นงานที่ละเอียดทุกขั้นตอน ต้องมีความอดทน และฝึกฝนจึงจะมีความชำนาญ การที่ครูได้รับเกียรติจาก sacit ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงาน “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ในครั้งนี้ นับเป็นความท้าท้ายและแปลกใหม่อย่างยิ่ง รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันศิลปหัตถกรรมของไทยให้เป็น Soft Power เกิดการรับรู้และประทับใจแก่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อมั่นว่างาน “Andaman Craft Festival” จะสร้างสีสันและส่งเสริมบรรยากาศของการท่องเที่ยวให้น่าประทับใจยิ่งขึ้น และเป็นอีกงานที่นักท่องเที่ยว จะปักหมุดเพื่อมาท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อมาเยือน ที่สำคัญนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นภูเก็ตและในกลุ่มจังหวัดอันดามัน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยคาดว่าในปี 2566 นี้จะสามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดสินค้าของขวัญของที่ระลึกในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้เกิดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท
ขอเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสพลังของงานหัตถกรรมไทยที่จะสร้างความสุขและรอยยิ้มที่งาน “Andaman Craft Festival” ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานมังกร ถนนคนเดิน จังหวัดภูเก็ต