ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ยังคงกดดันให้ตลาดการเงินผันผวน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ในช่วงทยอยปรับมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยหากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสและแข็งแกร่ง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ล่าสุด หรือ สูงกว่าระดับดังกล่าวได้ ซึ่งตลาดมองว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวจะยังคงช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 108.5 จุด ทั้งนี้ต้องจับตาว่ามุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มปรับตัวแย่ลงหรือไม่ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 54.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ อาจยังคงหดตัวอยู่ (ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 48 จุด) ท่ามกลางความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีด้านราคาในรายงานดัชนี PMI ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังสูง เช่น 8.2% ตามที่ตลาดประเมิน ก็จะยิ่งหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นในตลาดล่าสุดคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate จนแตะระดับ 3.75% ได้ในปีนี้ จากระดับล่าสุดที่ 2.50% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของ ECB ในปีนี้

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้แรงหนุนจากภาคการบริการ (สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง) จะช่วยให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 4.0%y/y ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 50.2 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ

▪ ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคมอาจยังคงถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยยอดการส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่องราว -1.0%y/y ส่วนยอดการนำเข้าก็จะหดตัวราว -3.4%y/y และทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ขาดดุลราว -1.5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป จีนและเอเชีย ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิต ที่ระดับ 53 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในฝั่งภาคการท่องเที่ยว ก็อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways Up ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่มีมากกว่าปัจจัยฝั่งแข็งค่า นอกจากนี้ ควรจับตาภาพตลาดหุ้นไทยที่เสี่ยงปรับฐานต่อ กดดันให้ นักลงทุนต่างชาติ อาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า -1.9 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ราว -5 พันล้านบาท) แต่หากตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ในระยะสั้น (จับตาการเคลื่อนไหวของดัชนี SET ใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) แรงขายสินทรัพย์ไทยก็อาจชะลอลงได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดยังกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่อ่อนค่าชัดเจน ทว่าหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงขึ้นมาก จนตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หรือการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) รวมถึงเงินปอนด์อังกฤษ (GBP)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.05 บาท/ดอลลาร์