แพทย์แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยง ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจ

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนพิษร้ายบุหรี่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยงด้วยการ ลด ละ เลิก บุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีต่อตนเองและคนรอบข้าง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุขของประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มช่วงวัยกลางคนขึ้นไป เพื่อตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ประชาชนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคุมปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง ภาวะเครียด การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนี้นิโคติน เป็นสารคล้ายน้ำมันไม่มีสี ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ความดันโลหิตสูง ก่อให้เกิดโรคหัวใจ คาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้หัวใจและส่วนต่างๆของร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ทำให้เหนื่อยง่าย เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำให้มีอาการไอ และมีเสมหะ หลอดเลือดอักเสบเรื้อรังอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าสารพิษร้ายในบุหรี่นี้เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่นั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ เช่น จุกแน่นหน้าอก ลักษณะเหมือนมีอะไรมากดทับ มักจะเกิดขณะออกแรง เช่น เวลาทำงาน ออกกำลังกาย หรือหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นลมหน้ามืด ในบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อน ให้รีบพบแพทย์ทันที ดังนี้เพื่อให้หัวใจแข็งแรงเราต้องรู้จักการควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการ ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่สามารถเลิกได้ไม่ยากอย่างที่คิด ดังนี้ 1. หาเหตุจูงใจที่จะเลิก 2. กำหนดวันที่แน่นอนบอกคนที่คุณรักเพื่อเป็นกำลังใจ 3. ทำจิตใจให้แจ่มใส ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 4. ยืนยันการเลิกบุหรี่ ทิ้งอุปกรณ์การสูบบุหรี่ เพียงเท่านั้นหากเรารู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างแน่นอน เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนรอบข้าง

******************************************

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคทรวงอก #โรคหลอดเลือดหัวใจ #บุหรี่