รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืน

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 16.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยมี นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. กล่าวรายงานการจัดโครงการฯ พร้อมร่วมชมนิทรรศการ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพชุมชน  ท้องถิ่น” ภายใต้สโลแกน “ทับทิมสยาม 02 มองอดีต สู่อนาคต” ณ หน่วยฝึกและพัฒนาอาชีพโครงการทับทิมสยาม 02 ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรม ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการนำ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีทักษะความรู้ และความสามารถในการประกอบและ พัฒนาอาชีพของประชาชน ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็น ประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากการดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยส่งผลให้ประชาชนได้รับการ พัฒนาความรู้ ความสามารถ และสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ใน การพัฒนาและยกระดับอาชีพ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ สามารถ “สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้” ให้แก่ตนเองได้

ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. ได้รับความร่วมมือจากภาคี เครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในครั้งนี้  มุ่งเน้นเพื่อให้ประชาชนจำเป็นต้องมีปัจจัยในการดำเนินชีวิต การฝึกตนเอง ให้มีทักษะในการแสวงหาปัจจัย 4 จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องมีการหารายได้ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงินเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัย เพื่อการดำเนินชีวิต ซึ่งการที่มนุษย์จะมีอาชีพที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน พัฒนาตนเองให้สามารถค้นหาช่องทางที่จะประกอบอาชีพ การใช้ความรู้ ทักษะ และ ประสบการณ์เพื่อการประกอบอาชีพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อม เพื่อการดำรงชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการจัดการศึกษาหรือใช้กระบวนการทางการศึกษาเข้ามาพัฒนา เพื่อให้ผู้เรียนหรือ กลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพในการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

การจัดการศึกษา และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ จึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของสังคมโลก เพื่อให้แต่ละประเทศในโลกสามารถแข่งขันกันได้ และยังเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อ การพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จากระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลไกการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ การจ้างงานที่ลดลง การประกอบอาชีพที่ได้รายได้น้อยลงแต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ก็คือ กลุ่มเกษตรกรรมที่อาจมีต้นทุน ในการผลิตที่สูงแต่กลับมีผลกำไรจากการจัดจำหน่ายผลิตผลหรือสินค้าในจำนวนที่น้อย หรือได้ราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ตามมา ซึ่งในการดำเนิน “โครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้าน เกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ถือเป็นโอกาสหนึ่ง ที่สำคัญ ที่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนจะได้เข้ามาเรียนรู้ และสามารถนำความรู้ และ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับอาชีพของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม การที่งานของเรานั้นจะประสบความสำเร็จได้นั้น อาจจำเป็นต้อง เน้นไปที่การฝึกปฏิบัติของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดประสบการณ์ และ ทักษะสำหรับนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงาน การศึกษา และภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาจมีอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ อาจต้องให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจาก การดำเนินงานในแต่ละส่วน แต่ละด้านร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมุ่งนำไปสู่การประยุกต์ใช้ ในการประกอบอาชีพ และในการดำเนินงานอย่างมีคุณภาพต่อไป

ด้าน นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. กล่าวว่าสำหรับการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 พิธีเปิดกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพชุมชน ท้องถิ่น”

ช่วงที่ 2 เวทีเสวนาการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน  ภายใต้หัวข้อ “ กศน.ต่อยอดโอกาส พัฒนาตลาดฯเพื่อประชาชน  ”

ช่วงที่ 3 พิธีเปิด “โครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรของสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบ ผู้แทนบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว รวมจำนวน 400 คน

สำนักงาน กศน. ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จึงได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นประจำปี พ.ศ. 2566 ในด้านการศึกษา  เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถ ขึ้น และจัดให้มีการดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ

1) พัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

2) ให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม

3) เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขยายผลจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และสร้างโอกาสทางการตลาด รวมถึงการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรต่อไป

นอกจากนี้ การดำเนินงาน ในครั้งนี้ ยังถือเป็นการดำเนินงานที่สนองตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ซึ่งเคยมีพระกระแสรับสั่งให้กองกำลังบูรพาพิจารณาจัดพื้นที่ให้แก่กรมการศึกษานอกโรงเรียน (ชื่อเดิมของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยฝึกวิชาชีพให้แก่ประชาชน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนกองกำลังบูรพา เมื่อครั้งเป็นศูนย์รองรับชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยจากประเทศกัมพูชา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2522 อีกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้ สำนักงาน กศน. โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาร่วมกับศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว (ศฝช.สระแก้ว) มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้ นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายใต้โครงการไปพัฒนาและยกระดับอาชีพด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ รวมถึงมีการขยายผลจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และสร้างโอกาส   ทางการตลาด รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต”  อย่างมีคุณภาพต่อไป