ก.แรงงาน เยี่ยมสถานประกอบการ จ.ลำพูน ติดตามการตรวจคุ้มครองคนต่างด้าวป้องกันค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

​วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดลำพูนตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่จ้างคนต่างด้าวทำงาน เพื่อตรวจคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยมี นางสาวอัจฉราภรณ์ ยะสินธ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล นายจิตติภูมิ สัมพันธนานนท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท ไทย – นิจิ อินดัสทรี จำกัด ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ ณ บริษัท ไทย – นิจิ อินดัสทรี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ 77 หมู่ 13 ต.มะเขือแจ้ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการประเภทการผลิตขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบ มีลูกจ้างทั้งสิ้น 464 คน เป็นแรงงานไทย 324 คน แรงงานต่างด้าว 140 คน

​นางดรุณี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย การลงพื้นที่จังหวัดลำพูนในครั้งนี้เพื่อตรวจติดตามการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรอง (SOP) รบ.1 ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเพื่อตรวจติดตามการรายงานผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ แบบ รบ.1 เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจะเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตาม NRM ตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรค กระบวนการ วิธีการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น
เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน

​โอกาสเดียวกันนี้ นางดรุณี ยังได้เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรอง (SOP) ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ โดยได้กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลำพูนบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบการในการดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล การทำประกันสังคม เป็นต้น เพื่อให้ลูกจ้างการได้รับสวัสดิการจากสถานประกอบการ อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิมอีกด้วย

​สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานต่างด้าวของจังหวัดลำพูน ปัจจุบันมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566 จำนวนทั้งสิ้น 15,108 คน นายจ้าง/สถานประกอบการ 3,733 แห่ง ประกอบด้วย คนต่างด้าวที่ไม่ใช่ 3 สัญชาติ ได้แก่ มาตรา 59 (ทั่วไป) จำนวน 174 คน มาตรา 62 (BOI) จำนวน 316 คน คนต่างด้าว บุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียน มาตรา 63/1(4) จำนวน 1,348 คน แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จำนวน 13,270 คน แยกเป็นเมียนมา 13,072 คน กัมพูชา 85 คน ลาว 113 คน