วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวในรายการถกไม่เถียง ทางช่อง 7HD ในกรณีที่ ลูกจ้างถูกนายจ้างใช้ให้ปีนขึ้นไปตัดต้นไม้ แต่พลาดท่า ตกลงมาขาหัก แต่กลับถูกนายจ้างลอยแพ ไม่รับผิดชอบ นั้น ในเรื่องนี้ ทันทีที่ทราบข่าว ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมด้วยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน อย่างครบถ้วน
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นางชณิการ์ โกวะประดิษฐ์ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ส่งทีมเฉพาะกิจของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกับนายจ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บจากกรณีตกต้นไม้ และสถานที่ทำงานที่เกิดเหตุ ซึ่งประกอบกิจการขายอุปกรณ์ก่อสร้าง และอุปกรณ์เครื่องจักร ในพื้นที่ ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ทราบว่า ลูกจ้างผู้ประสบเหตุ ชื่อ นายสมยศ เดชมณี อายุ 53 ปี เป็นลูกจ้างทำงานในหน้าที่ช่างไฟฟ้าและงานอื่น ๆ ตามคำสั่งนายจ้าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท จ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
ในวันที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ขณะที่กำลังทำงานให้นายจ้าง โดยได้ไปช่วยเพื่อนร่วมงานขึ้นไปตัดไม้ แต่พลาดท่า ตกลงมาด้านล่าง หลังกระแทกพื้น รู้สึกตัวดี ร่างกายไม่มีบาดแผล แต่ไม่สามารถขยับร่างกาย ตั้งแต่คอถึงปลายเท้าได้ รถกู้ภัยมารับตัวนายสมยศฯ นำส่งโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม แพทย์ส่ง X-ray พบว่ากระดูกต้นคอแตกกดทับเส้นประสาท นายสมยศฯ รักษาพยาบาลในห้องผู้ป่วยหนัก แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และย้ายไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ รักษาเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 6 – 26 พฤษภาคม 2565 รวมจำนวน 20 วัน ค่ารักษาพยาบาลใช้สิทธิประกันสังคม โดยมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจำนวนรวมทั้งสิ้น 153,173 บาท แบ่งออกเป็น นายจ้างจ่ายค่าเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม จำนวน 93,573 บาท นายสมยศฯ จ่ายส่วนเกินค่าห้องพิเศษ และค่าผ้าอ้อมสำหรับผู้ป่วย จำนวน 59,600.- บาท ปัจจุบันผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดการรักษาพยาบาล แพทย์นัดติดตามอาการต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ นายสมยศฯ เกิดอุบัติเหตุ นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้เต็มตามจำนวนเดือนละ 22,000 บาท โดยจ่ายให้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน (งวดละ 11,000 บาท) นายจ้างจ่ายให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมกราคม 2566 นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้นายสมยศฯ โดยจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเงิน 11,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวด ๆ ละ 5,500 บาท เนื่องจากนายจ้างตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง คือ ลูกจ้างไม่ได้ไปทำกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด นายจ้างให้ข้อมูลว่า มิได้มีเจตนาที่จะทอดทิ้งลูกจ้าง และไม่เข้าใจการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินการให้นายจ้างขึ้นทะเบียนนายจ้างและนำลูกจ้างขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน และนายจ้างยื่นแจ้งแบบการประสบอันตราย เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เพื่อลูกจ้างได้รับสิทธิ์กองทุนเงินทดแทน
ในวันเดียวกันทีมเฉพาะกิจของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่เยี่ยมลูกจ้าง ณ บ้านพักของ นายสมยศ เดชมณี ย่านบางบอน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจพร้อมมอบกระเช้าของเยี่ยมและของใช้จำเป็น พร้อมชี้แจงสิทธิสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินประกาศตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนตามมาตรา 18(1) ค่าหยุดงานตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ค่าทดแทนตามมาตรา 18(2) ค่าสูญเสียอวัยวะ เมื่อสิ้นสุดการรักษาพยาบาลตามสัดส่วนที่สูญเสียอวัยวะ ทั้งนี้ นายสมยศฯ ลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดการรักษา ซึ่งสำนักงานฯจะดำเนินช่วยเหลือในเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ครบถ้วนต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 7 (ราชบุรี) ร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุ โดยจะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ.2564 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป