นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า ฝายท่าลาดเป็นอาคารชลประทานหลัก ในเขตโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ตัวอาคารตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อสร้างเมื่อปี 2544 ทำหน้าที่ยกระดับน้ำในคลองท่าลาด เพื่อส่งน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนปี 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำหลากไหลผ่านฝายท่าลาดเข้าท่วมพื้นที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ได้ใช้ฝายยางยกระดับน้ำ เพื่อผันน้ำหลากบางส่วนเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้ทำการตรวจสอบสภาพฝายยาง เพื่อเตรียมพร้อมการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 พบรอยฉีกขาดบริเวณรอยต่อที่ยึดติดกับฐานคอนกรีตด้านล่าง ซึ่งไม่สามารถช่อมแซมได้ จึงได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน ด้วยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อจัดซื้อวัสดุจัดทำทำนบชั่วคราว (กระสอบทราย(Big Bag))
โดยได้รับอนุมัติงบประมาณ เมื่อเดือน ธันวาคม 2565 ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำชะลอความเค็มของแม่น้ำบางปะกงในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และส่งน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการฝายท่าลาดได้ ปัจจุบันยังคงมีการเสริมทำนบชั่วคราวเป็นระยะๆ ตามสภาพการชำรุดที่เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับเปลี่ยนฝายยางเป็นการถาวรที่มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้ โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ได้ส่งหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพื่อรื้อเปลี่ยนฝายยางเดิม พร้อมซ่อมบำรุงระบบสูบน้ำของฝายยางเป็นการถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุม ในพื้นที่ของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างสูงสุดในระยะต่อไป