กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาลของบ่อบาดาลบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯรัฐวิสาหกิจชุมชน ต.กุดรัง อ.กุดรัง โรงเรียนเสือเฒ่าหนองเรือ ต.เสือเฒ่า อ.เชียงยืน สาธารณะหมู่บ้าน ต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย และหมู่บ้าน(ป่าชุมชนบ้านเข็ง) ต.เสือเฒ่า อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงรวมถึงอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 34,373 ล้าน ลบ.ม. (59%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,443 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,789 ล้าน ลบ.ม. (75%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,141 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,405 ล้าน ลบ.ม. (57%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 27,278 ล้าน ลบ.ม. (58%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,058 ล้าน ลบ.ม. (50%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,580 ล้าน ลบ.ม. (53%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วันที่ 21 ก.พ. 2566 กรมทรัพยากรน้ำ จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกประจำปี พ.ศ. 2566 ณ วัดคงคาราม(วัดบน) ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และลำน้ำสาขา” ถ่ายทอดการนำความรู้ด้านการแก้ปัญหาโดยธรรมชาติ (Nature-based Solution) มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้แก่ชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว นอกจากนี้มีกิจกรรมการสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น การปล่อยพันธุ์ปลา การปลูกป่าชายเลน เป็นต้น