บริษัท Dow ประกาศปรับเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนที่ตั้งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยขยายการดำเนินงานจากการ “หยุดขยะพลาสติก” (Stop the Waste) เป็น “เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์” (Transform the Waste) โดย Dow มุ่งมั่นจะเปลี่ยนขยะพลาสติกและนำวัตถุดิบทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ให้ได้ 3 ล้านตันต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 โดย Dow จะขยายผลการลดขยะด้วยการร่วมสร้างระบบนิเวศน์ทางอุตสาหกรรม เพื่อเก็บรวบรวมพลาสติกใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล รวมทั้งขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
– ขยายเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนโดยเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ ต่อยอดเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนที่ประกาศเมื่อปี 2563
– ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการรีไซเคิลเชิงกลและการรีไซเคิลขั้นสูง ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถของ Dow ในการเปลี่ยนขยะให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อผลิตสินค้าใหม่
– สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ส่งเสริมการรีไซเคิล เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่
จิม ฟิตเทอร์ลิง ประธานกรรมการบริหารของ Dow กล่าวว่า “เรากำลังขยายผลพันธสัญญาด้านความยั่งยืนเพื่อจัดการขยะพลาสติกและตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า เราได้ขยายการดำเนินงานเพื่อหยุดขยะพลาสติกผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นผู้นำและการเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลาสติกของเราเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เราจะเพิ่มมูลค่าให้กับขยะและสร้างระบบนิเวศน์ทางอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในการผลิตสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงโซลูชันคาร์บอนต่ำ”
จากการปรับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนในครั้งนี้ จะส่งผลให้มีการนำขยะจำนวนมากมาใช้ผลิตสินค้าและโซลูชันกว่า 3 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายเดิมที่ Dow กำหนดไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าจะช่วยให้ขยะพลาสติก 1 ล้านตันทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินงานของบริษัทและความมือร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ
อันเดร อาร์เจนตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนและรองประธานด้านสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยของ Dow กล่าวว่า “เป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการยกระดับมาตรฐานการทำงานและการส่งเสริมระบบนิเวศน์ทางอุตสาหกรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของเรา ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างมีประสิทธิผล”
ข้อตกลงและโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย
– ข้อตกลงกับ Mura Technology ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงระดับโลกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยมีกำลังผลิตรวมกันมากถึง 600,000 ตันต่อปี การลงทุนเพื่อสร้างโรงงานรีไซเคิลแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส เพื่อเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค (PCR) ซึ่งบริหารงานโดย Valoregen การทำงานร่วมกับ Nexus Circular เพื่อสร้างระบบการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส โดยใช้ประโยชน์จากพลาสติกที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือในโครงการ Hefty® EnergyBag® กับ Nexus และ Reynolds Consumer Products ความร่วมมือด้านการรีไซเคิลเชิงกลกับ Boomera LAR ในบราซิล การลงทุนใน Mr. Green Africa และข้อตกลงในการร่วมกันพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Lucro Plastecycle เพื่อพัฒนาและเปิดตัวฟิล์มโพลิเอทิลีน (PE) จากพลาสติกรีไซเคิลในอินเดีย
นอกจากนี้ Dow ยังได้จัดตั้งแพลทฟอร์มธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า “Circular & Renewable Solutions” ภายใต้กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษ โดยมี ดาเนียลลา ซูซา มิแรนดา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจระดับโลก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายใหม่ของบริษัทฯ ในครั้งนี้
ดิเอโก โดโนโซ ประธานธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษ กล่าวว่า “การประกาศในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความกล้าของ Dow ที่จะเพิ่มการใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน การสร้างแพลทฟอร์มธุรกิจ Circular & Renewable Solutions จะช่วยเร่งความสามารถของเราในการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ตั้งใจไว้ และช่วยพัฒนาธุรกิจพลาสติกหมุนเวียนของเราให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น”
ท่านสามารถดูรายละเอียดความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมได้จากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท Dow ที่ https://corporate.dow.com/en-us/science-and-sustainability/reporting.html#xd_co_f=MjdjMjI0ZGMtOGFkMi00YmE3LTkzZTgtOWYwMzg1YjI4NTEz~