วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นประธานพิธี “บจธ. มอบสิทธิในที่ดินทำกิน สู่ความมั่นคง ยั่งยืน” และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน หรือ คทช.” ในการนี้
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) พร้อมด้วย นายศิริชัย เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน นางสาววัลย์นภา รัชเดช ผู้อำนวยการสำนักงานผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่ สคทช. เข้าร่วมงาน ภายในงานมีการมอบสิทธิในที่ดินทำกิน สู่ความมั่นคง ยั่งยืน
ในพื้นที่การดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนา ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ให้กับประชาชน และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 พื้นที่ เนื้อที่รวม 36,423 – 2 – 74 ไร่ ประกอบด้วย
1. ป่าปัถวี ท้องที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 915 – 0 – 21 ไร่
2. ป่าจันตาแป๊ะ และป่าเขาวังแจง ท้องที่อำเภอเขาคิชฌกูฏและอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 34,933 – 0 – 08 ไร่
3. ป่าท่าสอน ท้องที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 575 – 2 – 45 ไร่
โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดจันทบุรี ผู้ขออนุญาต เป็นตัวแทนรับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้ง 3 ฉบับ จากรองนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว รวมจำนวน 1,328 ราย โดยยังมีพื้นที่อยู่ระหว่างการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 44 พื้นที่ เนื้อที่รวม 245,654 – 3 – 85 ไร่
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนาที่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาที่ดินผืนนี้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป อีกทั้ง ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญเร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมถึงดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนรวมถึงการบูรณาการภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการในพื้นที่ คทช. ให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดความยั่งยืน