ซีพีเอฟ ปั้น “ยุวนวัตกร” เติมทักษะ Coding น้องๆ รร.บ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) จ.นครราชสีมา

“การศึกษา คือ รากฐานของการพัฒนาประเทศ ถือว่ามีความสำคัญมาก และรากฐานของการพัฒนาประเทศจะเข้มแข็ง มั่นคงได้ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา” ดร.อนงค์ อมรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) สะท้อนมุมมองต่อความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการพัฒนาการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการขับเคลื่อนการยกระดับการศึกษาของไทย ภายใต้ความมุ่งมั่นของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา “คอนเน็กซ์ อีดี” (CONNEXT ED)


โรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 547 คน โรงเรียนเข้าร่วมโครงการคอนเน็กซ์ อีดี โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ “ยุวนวัตกร” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการคิด การวางแผน ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างทักษะให้นักเรียนในการเขียนโปรแกรมควบคุมบอร์ดสมองกล รวมไปถึงการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อ ใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพ

ดร.อนงค์ ผู้อำนวยการ รร.บ้านบุ กล่าวว่า โครงการยุวนวัตกร เป็นโครงการที่ตอบโจทย์เด็กไทยยุคใหม่ ที่จะต้องมีทักษะ เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนักเรียนมีความสนใจในเรื่องดังกล่าวแต่โรงเรียนยังขาดทรัพยากรและอุปกรณ์ ต้องขอขอบคุณซีพีเอฟและมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา เข้ามาสนับสนุนทำให้โรงเรียนมีการพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่น่าพอใจ ทำให้นักเรียนมีทักษะด้านเทคโนโลยี ก้าวทันต่อโลกศตวรรษที่ 21 และในอนาคตคาดหวังว่านวัตกรน้อย มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านเทคโนโลยี และชุมชนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้

ด้านคุณครูธงชัย ขำเทศเจริญ คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการยุวนวัตกร กล่าวว่า โครงการยุวนวัตกร ดำเนินการจัดการเรียนการสอนกับกลุ่มสนใจหรือกลุ่มยุวนวัตกร ในรายวิชาชุมนุมคอมพิวเตอร์ โดยมีการเรียนการสอนในชั่วโมง และการฝึกอบรม โดยการเรียนจะเป็นการใช้บอร์ดสมองกลในการควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ เช่น การใช้แสงในการควบคุมการเปิดปิด การใช้อุณหภูมิในการเปิดปิดพัดลม การใช้ IOT ในการเปิดปิดหลอดไฟ และจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการควบคุมบอร์ดสมองกล โดยใช้บอร์ดสมองกล KidBright ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ทั้ง Input และ Output แล้วเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น การเขียนโปรแกรมควบคุมเซ็นเซอร์วัดระยะห่าง เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้แล้วจะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในรายวิชาโครงงานคอมพิวเตอร์ เช่น เซ็นเซอร์วัดระยะห่าง นำไปสร้างโครงงานเรื่องเครื่องกั้นรถอัตโนมัติ โครงงานเรื่องโรงจอดรถอัตโนมัติ หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุ นำไปสร้างโครงงานเรื่องถังขยะอัตโนมัติ โครงงานเรื่องอ่างล้างมืออัตโนมัติ เป็นต้น

” รู้สึกดีใจและขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อใช้สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากสื่ออุปกรณ์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ทางโรงเรียน รวมทั้งการจัดกิจกรรมอบรมต่างๆ นอกจากนี้ เด็กๆ ยังสามารถนำไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น การทำโครงการในระดับชั้น ปวช. ปวส. นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน” คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการยุวนวัตกร กล่าว

นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทักษะการ Coding สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน

ด.ช.ไพศาล ดอนเกษม หรือ น้องหยาง อายุ 15 ปี กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3)กล่าวว่า ได้เรียนรู้กระบวนการทำบอร์ดสมองกล KidBrightและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น ระบบเปิดและปิดไฟอัตโนมัติที่เราติดตั้งที่โรงเรียน และผมได้นำไปใช้ที่บ้านด้วย นอกจากนี้ โครงการยุวนวัตกร ทำให้ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ต่อไปในสายอาชีพ ดีใจที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟและคอนเน็กซ์ อีดี ทำให้นักเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดีขึ้น

ด้าน ด.ช.บุลฤทธิ์ หิลแก้ว หรือ น้องนิว อายุ 14 ปี กำลังศึกษาชั้น ม. 2 ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ และฝึกเขียนบอร์ดสมองกลในโครงการยุวนวัตกร และมีได้ฝึกทดลองทำโครงงานเครื่องกั้นรถอัตโนมัติ หรือการใช้ IOT ในการเปิดปิดหลอดไฟ ซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์กับที่บ้านด้วย ขอขอบคุณซีพีเอฟและโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ที่มอบโอกาสให้ โรงเรียนของเรา ทำให้เราได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ และได้ความรู้ทางอิเล็คทรอนิคส์ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

ทั้งนี้่ ซีพีเอฟเป็น 1ใน 12 บริษัทเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา ซึ่งปัจจุบัน มีโรงเรียนภายใต้การดูแล 298 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี โดยในปี 2566 เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน และส่งเสริมการนำทักษะใหม่ๆและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 มาใช้ อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด (Coding) การจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ Proactive teacher for active learning และโครงการ STEM Education เพื่อยกระดับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการสอน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง ตามเป้าหมายของคอนเน็กซ์ อีดี ./