สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยสรุปข้อมูลเบื้องต้น โครงการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พ.ศ. 2565

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. ได้ดำเนินการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนเป็นประจำทุก 5 ปี โดยสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งจัดประเภทโรงพยาบาล ประเภท Q ในกิจกรรม 86101 และ กิจกรรม 86102 ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทยปี 2552 (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC 2009) สำหรับข้อมูลผลการดำเนินกิจการของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนเป็นข้อมูลผลประกอบกิจการ ในรอบปี 2565 สรุปได้ดังนี้

ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 60.8 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้รับบริการผู้ป่วยใน 2.3 ล้านราย เป็นชาวไทย 2.2 ล้านราย ชาวต่างชาติ 0.1 ล้านราย ส่วนผู้รับบริการผู้ป่วยนอก มีจำนวน 58.5 ล้านราย เป็นชาวไทย 53.4 ล้านราย ชาวต่างชาติ 5.1 ล้านราย โดยผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนโดยเฉลี่ยต่อแห่ง มีประมาณ 152,000 รายต่อแห่ง

สำหรับจำนวนบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนประมาณ 213,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาล จำนวน 128,000 คน รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่บริการโรงพยาบาล จำนวน 45,600 คน เจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ จำนวน 26,800 คน และเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร จำนวน 12,600 คน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติม โดยต้องการเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลประมาณ 8,000 คน และเจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ประมาณ 2,500 คน สำหรับความต้องการการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย

1. ช่วยเหลือส่งเสริมข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข 78.4%

2. การให้สิทธิข้าราชการในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน 73.1%

3. การอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษา 58.4%

4. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับประเทศ 56.6%

ติดตามข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th ดร.ปิยนุชฯ กล่าว