นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีการลักลอบกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ 2559 คือโรงงานชำแหละตัดแต่งเนื้อสุกรที่มิได้รับการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตสร้างความเดือดร้อนเรื่องเสียงและกลิ่นเหม็นที่จังหวัดนครปฐม จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย กรมปศุสัตว์ เข้าตรวจสอบเป้าหมายตามเบาะแสที่ได้รับ
ผลการเข้าตรวจสอบพบผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559
- จังหวัดสุพรรณบุรี พบผู้ลักลอบตัดแต่งเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ผิดมาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พบของกลางซากสุกร 2 ซาก พร้อมอุปกรณ์ชำแหละตัดแต่ง
- จังหวัดนครปฐม พบผู้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 ซึ่งมีโทษ จำคุก 3 ปีปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฆ่าสัตว์โดยไม่แจ้งการฆ่าตามมาตรา 31 ปรับตามรายตัวสุกร ตัวละ 2 หมื่นบาท ของกลางพบซากสุกร 2 ซาก และอุปกรณ์เชือด
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการเข้มงวดดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์เถื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินการจับกุมตั้งแต่ปี 2558 ไปแล้วมากกว่า 523 ราย นอกจากนี้ โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ยกเลิกใบอนุญาตฯ ไปแล้ว 364 แห่งและพักใช้ใบอนุญาตฯ ไปแล้ว 51 แห่ง และการปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นไปตามมาตรการปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของกรมปศุสัตว์ เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ลักลอบฆ่า หรือตัดแต่งจะไม่ทราบแหล่งที่มาหรือสาเหตุการตายและไม่ได้มาตรฐานตามสุขอนามัย อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดที่สำคัญได้ โดยจากการตรวจพบหลักฐานและของกลางดังกล่าวฯ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ จึงได้ยึดอายัดรวบรวมหลักฐาน ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดี ต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็น การกระทำผิดกฎหมายด้านปศุสัตว์โปรดแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่น(Application) “DLD 4.0” ที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทั้งระบบ iOS ผ่าน App Store และระบบAndroid ผ่าน Google play เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที
***********************************************
ข่าว/ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียง : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (21 มิถุนายน 2562)