กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำประชาชนใช้สมุนไพรใกล้ตัว สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานรับมือกับโรคน้ำกัดเท้าช่วงหน้าฝน
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่องฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จะเห็นว่าเมื่อมีฝนตกหนักมักจะเกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโรคที่พบบ่อย จากสถานการณ์ดังกล่าวคือ โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น น้ำกัดเท้า สาเหตุจากการเดินลุยน้ำสกปรก หรือการที่ต้องแช่เท้าในน้ำท่วมขังเป็นเวลานานนั้น ทำให้เกิดการอับชื้น ส่งผลให้มีอาการคันตามง่ามเท้า เท้าเปื่อย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการอักเสบ บวมแดง ผิวหนังลอก และเป็นหนอง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีการนำสมุนไพรใกล้ตัวมารักษา โรคน้ำกัดเท้าซึ่งมีสมุนไพรหลายชนิด ในที่นี้จะยกตัวอย่าง ข่า ขมิ้นชัน และทองพันชั่ง สามารถนำมาทำใช้เอง แบบง่าย ๆ โดยการนำเหง้าข่าหรือเหง้าขมิ้นชัน มาทุบให้มีน้ำ แล้วนำน้ำทาบริเวณที่มีอาการ หากมีผงขมิ้นชัน ก็สามารถนำมาผสมกับน้ำสะอาดเพียงเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีอาการได้เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการทำเป็น ยาในรูปแบบทิงเจอร์ไว้ใช้ ให้นำเหง้าข่ามาทุบหรือบดหยาบ ใส่ลงในโหลแก้วสะอาด จากนั้นเติมแอลกอฮอล์ล้างแผลพอท่วม ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคน เช้า – เย็น เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำทาบริเวณที่มีอาการจนหายเป็นปกติ หรือหากต้องการใช้ใบทองพันชั่งให้นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโขลกพอหยาบ ใช้วิธีการหมักแบบเดียวกับทิงเจอร์ข่า ทั้งนี้ ทุกวิธีการข้างต้นเมื่ออาการหายแล้ว ต้องทาทิงเจอร์ต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาอาการโรคน้ำกัดเท้าให้หายสนิท
นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากการรักษาโรคน้ำกัดเท้าด้วยสมุนไพรแล้ว ก็ควรป้องกันการเกิดโรค ด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำสกปรก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่รองเท้าบูท และดูแลความสะอาดของเท้าให้ดี โดยเฉพาะบริเวณง่ามเท้า ระวังอย่าให้อับชื้น และไม่ควรใส่ถุงเท้าคู่เดิมซ้ำ ๆ ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็จะสามารถห่างไกลจากโรคน้ำกัดเท้าในช่วงฤดูฝนได้
********* 21 มิถุนายน 2562 *********