นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลการพัฒนาเกษตรกรผู้นำ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเกษตรกรผู้นำ โดยมีการจัดอบรมใน ศพก. ให้แก่เกษตรกร แบ่งเป็น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรหลัก หลักสูตรบังคับ และหลักสูตรเสริม เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer ให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างเกษตรกรมืออาชีพ
สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการพัฒนาเกษตรกรผู้นำ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ปี 2561 ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรผู้นำใน ศพก. ทั้ง 882 ศูนย์ๆ ละ 30 ราย รวมทั้งสิ้น 26,460 ราย รวม 77 จังหวัด ผลการประเมิน พบว่า มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมใน ศพก. ครบตามเป้าหมาย 26,460 ราย เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมพัฒนาเป็นเกษตรกรผู้นำ ร้อยละ 90 เข้ารับการพัฒนาจำนวน 3 ครั้ง ตามข้อกำหนดของโครงการ คือ หลักสูตรหลัก หลักสูตรบังคับ และหลักสูตรเสริม
เกษตรกรทุกราย ร้อยละ 100 ได้เข้ารับการพัฒนาหลักสูตรหลัก ได้แก่ การลดต้นทุน มาตรฐานสินค้าเกษตร Zoning บัญชีครัวเรือน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรหลักของ ศพก. พืชทางเลือกตามความต้องการของชุมชน และการผลิตตามกิจกรรมแปลงใหญ่ รองลงมาพบว่า เกษตรกรร้อยละ 96 เข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรบังคับ ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน และเกษตรกรร้อยละ 92 เข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรเสริม ได้แก่ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า องค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน แผนธุรกิจ หรือหลักสูตรอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของชุมชน
ภายหลังได้รับการพัฒนาจากการเข้าอบรม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 98 ได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง และสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรจากเดิม ได้แก่ การลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ หันมาผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ใช้เอง และการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน อีกทั้งได้ให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี โดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการประกอบอาชีพ
ผลจากการนำองค์ความรู้มาปรับใช้ส่งผลให้เกษตรกร ร้อยละ 83 สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เช่น ค่าปุ๋ยเคมีลดลงเฉลี่ย 548 บาท/ไร่ ค่าสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชลดลงเฉลี่ย 128 บาท/ไร่ และค่าเมล็ดพันธุ์ลดลงเฉลี่ย 120 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 54,383 บาท/ครัวเรือน นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าว พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 137 กิโลกรัม/ไร่
สำหรับข้อเสนอแนะ พบว่า เกษตรกรผู้นำยังมีความต้องการอบรมในหลักสูตรอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักสูตรด้านการตลาด อาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ และการใช้พลังงานทดแทน ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้นำมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรรวมทั้งการพัฒนาเกษตรกรผู้นำอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer ได้อย่างมืออาชีพต่อไป ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการ จะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีความตระหนักและปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมสาน เช่น การปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจากการบริโภคก็นำไปจำหน่าย รวมทั้งการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน เกษตรกรสามารถพัฒนาตนเองสู่ Smart Farmer และถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ จะยังคงพัฒนาเกษตรกรผู้นำโดยกำหนดเป้าหมายเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรผู้นำที่เป็นเกษตรกรทั่วไป จำนวน 30 ราย/ศูนย์ และเกษตรกรผู้นำที่เป็นประธานศูนย์เครือข่าย อย่างน้อย 10 ราย/ศูนย์ เน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต เพื่อการพัฒนาศักยภาพ เช่น ประเด็นเทคนิคการนำเสนอ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความร่วมมือของเครือข่าย ศพก. กับภาคราชการ หรือในประเด็นอื่นๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่ง สศก. จะได้วางแผนติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล