แนะวิธีป้องกันหนอนเจาะดอกมะลิ

ในช่วงสภาพอากาศร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่เช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะลิเฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะดอกมะลิ โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นมะลิออกดอก มักพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่สีเหลืองเป็นฟองเดี่ยวๆ ตามบริเวณกลีบดอก ก้านกลีบเลี้ยง ใต้ใบ หรือรอยยอดอ่อน เมื่อตัวอ่อนหนอนฟักออกมาจากไข่จะเข้าทำลายดอกมะลิในระยะดอกตูมที่มีขนาดเล็ก โดยหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในดอกมะลิ ซึ่งเกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะการเข้าทำลายของหนอนได้จากอาการของดอกมะลิเป็นรอยช้ำ จะเห็นมูลของหนอนเป็นขุยอยู่ภายใต้ดอก สีของดอกมะลิจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง สีน้ำตาลแห้ง เหี่ยวแห้ง และร่วงหล่น กรณีถ้าต้นมะลิไม่มีดอก หนอนจะเข้าทำลายกัดกินใบอ่อนหรือยอดอ่อน หากมีการระบาดรุนแรง จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บดอกมะลิขายได้

แนวทางในการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะดอกมะลิ หากพบการเข้าทำลายของหนอน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบการระบาดให้เกษตรกรพ่นสารทุก 4 วัน และไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้หนอนเจาะดอกมะลิสามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นได้ กรณีในแหล่งที่หนอนเจาะดอกมะลิมีการต้านทานสารเคมีให้ใช้อัตราส่วนของสารเคมีที่สูงขึ้น ให้เกษตรกรพิจารณาเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะดอกมะลิ ไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ตามความเหมาะสม สำหรับสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ

******************************************************

อังคณา  ว่องประสพสุข : ข่าว

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร