ซีพีเอฟ สร้าง Technical Academy ยกระดับขีดความสามารถพนักงานร่วมขับเคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาพนักงานตามกลุ่มธุรกิจ” (Technical Academy) พัฒนาขีดความสามารถ และทักษะใหม่ๆ ของพนักงานให้ตอบโจทย์กลยุทธ์ธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งมอบรางวัล CPF KM Excellence Awards 2023 แก่ 10 ผลงานที่ชนะการประกวดในการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) หรือ KM ที่มีผลลัพธ์โดดเด่นช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นที่จะเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้อย่างต่อเนื่อง ให้พร้อมต่อการเติบโตของธุรกิจ บริษัทฯ จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาพนักงานตามกลุ่มธุรกิจ (Technical Academy) ของแต่ละหน่วยงานขึ้น เพื่อส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐาน ช่วยให้พนักงานมีความรู้และทักษะที่จำเป็นปฏิบัติงานได้ตามกลยุทธ์ของสายธุรกิจ สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร CPF Ways และในปีนี้ บริษัทได้จัดการประกวดรางวัล CPF KM Excellence Award 2023 ขึ้นเป็นครั้งแรก มอบรางวัลให้แก่หน่วยธุรกิจที่มีการจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่โดดเด่นเป็นแบบอย่างแก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ ต่อไป

“การจัดงานครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเราเชื่อว่าการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆจากการทำงานจริงและเก็บมาเป็นคู่มือ เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับค่านิยมของบริษัท คือความรวดเร็ว และมีคุณภาพ โครงการต่างๆทั้ง 10 โครงการจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง และอีก 90 โครงการ ก็มีโอกาสที่จะกลับไปปรับปรุงทำให้ดียิ่งขึ้นและกลับมาทำเป็นความรู้ต่อยอดของเราได้อีก ขอขอบคุณท่านผู้บริหาร พนักงาน ทีมเถ้าแก่ที่ช่วยพัฒนา KM ของเราขึ้นมา และสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้จริง” นายประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับการมอบรางวัล “CPF KM Excellence Award 2023” ครั้งนี้ มีโครงการเข้าประกวดเกือบ 100 ผลงาน จาก 23 หน่วยธุรกิจของบริษัท โดยมี 10 โครงการที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัล ประกอบด้วย รางวัลสูงสุด รางวัล CEO Award จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ “การจัดการโรค ASF แบบบูรณาการ” จากหน่วยงานบริการวิชาการสุกร ซึ่งได้พัฒนา Application และการออกแบบองค์ความรู้แบบ One-page infographic และ e-learning ช่วยให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคในฟาร์มสุกร ช่วยป้องกันความเสียหายให้กับฟาร์มของบริษัทและคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ยังถูกส่งต่อไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ตอกย้ำหลักการ 3 ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของเครือซีพี ได้แก่ สร้างประโยชน์ประเทศ สังคม และบริษัท

นอกจากนี้ยังมี รางวัล Platinum Awards จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ Axons Sign: The KM Agile จาก Axons และโครงการสุกรขุนน้ำหนัก 145 กิโลกรัม ของธุรกิจสุกร รางวัล Gold Awards จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ องค์ความรู้ลูกกุ้ง มุ่งสู่ความสำเร็จของลูกค้า โดยธุรกิจสัตว์น้ำ โครงการ CP Meiji Milk for B2B Coffee Business โดย ซีพี เมจิ และต้นแบบการจัดการสินค้าแบบแช่แข็งทั้งกล่องด้วยระบบอัตโนมัติ โดยธุรกิจสุกร สำหรับ รางวัล Silver Awards จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย KM Shrimp Farm ทีเด็ดสู่การสร้างธุรกิจ สร้างคน สร้างผลตอบแทนโดยธุรกิจสัตว์น้ำ โครงการ App Guide for Sales and Partners โดย Axons โครงการ Lab Classroom Knowledge Management โดย QA Lab และโครงการ เปลี่ยนเลนแซง…การเพิ่มมูลค่าไก่พันธุ์ปลด (บะช่ออร่อยเพิ่ม) ของศูนย์วิจัยพัฒนาอาหาร

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน KM Process มีกระบวนการรวบรวม จัดเก็บ และอัพเดตอย่างเป็นระบบ มีการส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ และแบ่งปันองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ ด้าน Initiative การต่อยอด หรือพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ ด้าน Implementation คือสามารถนำเนื้อหาไปใช้เป็นประโยชน์ในระดับหน่วยธุรกิจ ข้ามธุรกิจ หรือภายนอกองค์กรได้ เช่น คู่ค้า สังคม เป็นต้น และ Impact เกิดผลลัพธ์ที่วัดผลได้ชัดเจน

ซีพีเอฟยังมีแผนการพัฒนาองค์ความรู้ของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้า ทุกหน่วยธุรกิจของซีพีเอฟจะต้องจัดตั้ง Technical Academy พร้อมทั้งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้พนักงานรุ่นใหม่มีความรู้สามารถปฎิบัติงานจริงได้ทันที รวมถึงพัฒนา หลักสูตร e-Learning สำหรับทักษะเฉพาะด้านของธุรกิจ มากกว่า 2,000 หลักสูตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืนและสามารถส่งต่อคุณค่าขององค์กรสู่สังคมภายนอกต่อไป./