กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดติวเข้มพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ สร้างบุคลากรระดับมืออาชีพในการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียน พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ผนึกกำลังเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคฯ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการปฏิบัติ แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ตอบโจทย์ประชาชนอย่างตรงจุด
วันที่ 20 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมริชมอนด์ สไตล์ลิส คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพว่า จากผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าในปี พ.ศ.2562 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์และความงามยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และติดอยู่ใน 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละปีกระแสนิยมในเรื่องของการดูแลสุขภาพ รูปลักษณ์และความงามของประชาชนมิเคยลดลงแต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชน และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (สปา ร้านนวด) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 12,000 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยและสมประโยชน์ กรม สบส.จึงกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพขึ้น ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมประชาสัมพันธ์ กรมการท่องเที่ยว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และติวเข้มองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ ทั้งการดูแล กำกับสถานพยาบาลที่ให้บริการเสริมความงาม การเฝ้าระวังโฆษณา การแจ้งเบาะแส การเตือนภัย การตรวจสอบและจัดการเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ให้เป็นบุคลากรระดับมืออาชีพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การประชุมฯในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการติวเข้มเพื่อสร้างบุคลากรมืออาชีพแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละหน่วยงานซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พูดคุยทำความเข้าใจในบทบาทของแต่ละหน่วยงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือผนึกกำลังเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการยื่นเรื่องร้องเรียนของประชาชน เพราะแต่ละหน่วยงานมีการเชื่อมต่อถึงกันในรูปแบบเครือข่าย สามารถส่งต่อข้อมูลถึงกันได้ ทำให้การแก้ไขปัญหามีความรวดเร็วกว่าเดิม และตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองในการรับบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยและสมประโยชน์