กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนประชาชนช่วงฤดูฝนระวังกินเห็ดพิษถึงตาย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  เตือนประชาชนในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่มีเห็ดมากมายหลายชนิดขึ้นทำให้ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่า ให้ระมัดระวังการรับประทานเห็ดหรือนำมาขายในตลาดท้องถิ่น        ซึ่งมักมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูง เนื่องจากอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเห็ดระโงกหินและ เห็ดระโงกดำพิษ

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เห็ดป่าจัดเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยมากกว่า 1,300 รายและมีผู้เสียชีวิต 6 ราย พื้นที่ที่พบรายงานการเกิดสถานการณ์ที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอำนาญเจริญ และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเห็ด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็น เห็ดระโงกหินและเห็ดระโงกดำพิษ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่าน หรือเห็ดไส้เดือนที่สามารถรับประทานได้ และเห็ดถ่านเลือดซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเห็ดถ่านใหญ่ และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน

นายแพทย์โอภาส  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษมีความแตกต่างกันตามชนิดและปริมาณเห็ดที่กินเข้าไป เช่น เห็ดระโงกหินและเห็ดระโงกดำพิษ  จะเกิดอาการภายใน 6ถึง24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนแสดงอาการประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นมีอาการตับและไตวายและอาจเสียชีวิต เห็ดหมวกจีน จะเกิดอาการภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง มีอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล  ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้า และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง  เห็ดหัวเกร็ดครีบเขียว จะเกิดอาการภายใน 15 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย เห็ดถ่านเลือด จะเกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต ดังนั้นหากพบผู้ป่วยที่กินเห็ดมีพิษต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย ให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ (เกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว) แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมามากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ หลังจากนั้นให้กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารแล้วรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาอาการ และส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการ

ข้อแนะนำในการบริโภคเห็ด

“ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงมีนโยบายให้ข้อมูลและเฝ้าระวัง ในเรื่องการรับประทานเห็ดจากป่าธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษจากเห็ด โดยอบรมให้ความรู้แก่ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนในเรื่องพิษภัยจากการกินเห็ด  โดยให้เฝ้าระวังและเก็บเห็ดป่าส่งตรวจชนิดของเห็ดหาความเป็นพิษเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งพัฒนาการตรวจดีเอ็นเอจำแนกชนิดของเห็ดทั้งเห็ดมีพิษและเห็ดที่กินได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสายพันธุ์เห็ดพิษหากเกิดการระบาด นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการพัฒนาฐานข้อมูลและ Application เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ในประเทศไทย” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

********************************