ไทยเจ้าภาพ เปิดบ้านจัดประชุมส่งเสริมความร่วมมือประชารัฐเชื่อมโยงชนบท-เมือง ภายใต้กรอบเอเปค

นายวินิต อธิสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ เรื่อง การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือแบบประชารัฐเพื่อเชื่อมโยงชนบท-เมือง ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2562 ณ โรมแรมเซ็นทรา มาริส รีสอร์ท จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาชนบทและเมืองภายใต้กรอบเอเปค

การประชุมฯ ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้ “แผนปฏิบัติการสำหรับกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบทและเขตเมืองเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงอาหารและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) ภายใต้กรอบเอเปค ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 ณ เมืองเกิ่นเทอ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของสมาชิกเอเปคในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาชนบทและเขตเมือง เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหาร รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสนับสนุนความร่วมมือแบบประชารัฐในการพัฒนาชนบทและเขตเมืองอย่างยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกเอเปค 10 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ชิลี เปรู สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ จีนไทเป และเวียดนาม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 40 คน โดยมีผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติ  ร่วมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจในชนบทและเขตเมืองอย่างยั่งยืน โดยใช้ศักยภาพที่แตกต่างกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการประชุมฯ สมาชิกเอเปคได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวถึงการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนใน การให้บริการทางการเงิน ทั้งด้านการกู้ยืมและประกันสินค้าให้กับเกษตรกรรายย่อย อินโดนีเซีย นำเสนอการดำเนินการของ PISAgro ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อปฏิรูปภาคการเกษตร   โดยใช้ตลาดนำการผลิต มาเลเซีย เห็นว่าการทำการเกษตรผสมผสานจะช่วยสร้างความมั่นคงอาหารและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในภูมิภาคได้ นิวซีแลนด์ รายงานผลการดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเส้นใย โดยใช้นวัตกรรม การปฏิรูปโครงสร้าง และสร้างผลประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยใช้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างชุมชนและภาคเอกชน เวียดนาม นำเสนอการดำเนินการของ Partnership for Sustainable Agriculture in Vietnam (PSAV) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการดำเนินการในรูปแบบตลาดนำการผลิต และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างอุตสาหกรรมกาแฟเพื่อพัฒนาชนบทในรูปแบบใหม่ โดยยึดหลักความโปร่งใส กระจายอำนาจ และความเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาชนบทและเขตเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยเห็นว่า การพัฒนาการเกษตรทั้งในชนบทและเขตเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน หนึ่งในกลไกที่เป็นรูปธรรม คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร หรือ PPP โดยมีแนวทางการดำเนินการที่หลากหลาย รวมถึงกิจกรรมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ ควรจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกลยุทธ์ที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ  PPP เช่น การส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุนผ่านห่วงโซ่คุณค่า เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการให้บริการพื้นฐานที่จำเป็น ภาคเอกชน ควรทำหน้าที่จัดหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงช่องทางการเข้าถึงตลาดและการบริการทางการเงิน การลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกร จำเป็นต้องผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีความตื่นตัวที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดำเนินโครงการแบบแปลงใหญ่ประชารัฐ (กุ้งทะเล) ของสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน และแปลงใหญ่ทุเรียน อ.ท่าใหม่ เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแปลงใหญ่ประชารัฐที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร สามารถเชื่อมโยงตลาด และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้ การจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการแสดงบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนและสมาชิกของเอเปค รวมทั้งเป็นการเผยแพร่การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของความร่วมมือประชารัฐของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนของไทย

………………………………………………………

ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ