หมอระบุการรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เน้นรักษาโรคทั้งทางกายและทางจิตใจ ย้ำรู้เร็ว หายได้ ฟื้นตัวไว ซึ่งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และข้อต่อ ป้องกันกล้ามเนื้อลีบฝ่อ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases : NCD’s) ที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญระดับโลกทั้งนี้พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก สำหรับประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันสมควร ซึ่งพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นโรคที่มีอัตราการตายมากกว่าโรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 – 2 เท่า
การดูแลผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน จะเน้นการฟื้นฟูร่างกายด้วยวิธีการนวดไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร การใช้ยาสมุนไพรตำรับต่าง ๆ รวมถึง การฝังเข็ม เพื่อช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มากขึ้น กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และข้อต่อต่าง ๆ ป้องกันกล้ามเนื้อลีบฝ่อ รวมถึงการให้คำแนะนำในการบำบัดโรคทางร่างกาย และเยียวยา สภาพจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย กล่าวได้ว่าการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เป็นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแบบองค์รวม ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศทั้งหมด 500 กว่าแห่ง สามารถติดต่อรับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐตามภูมิลำเนาที่ท่านอยู่ นอกเหนือจากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคแล้ว ยังมีหน่วยบริการของรัฐในเขตกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ 0 2 224 3261-3
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันโรคก่อนป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ควรบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ ที่มีในผักและ เนื้อปลาเป็นหลัก จำกัดการบริโภคอาหารที่หวานจัด เค็มจัด และไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมนันทนาการเพื่อคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ สวดมนต์ ฯลฯ เพียงเท่านี้ร่างกายของเราก็จะห่างไกลจากการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นโรค ดังพุทธปรัชญาที่ว่า“อโรคยา ปรมาลาภา” : ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ