วันที่ 20 มกราคม 2566 พลเอกประวิตร วงษ์สุววรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก “สี่แควโมเดล” รวมถึงผลการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด และโครงการแก้มลิงแหลมทอง อ.เมือง จ.นครสวรรค์
โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 นายเอกรินทร์ ตันมา ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างที่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตลอดช่วงแม่น้ำยม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และทำหน้าที่หน่วงชะลอน้ำเพื่อผันน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิงในช่วงฤดูน้ำหลาก
ซึ่งโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 ของโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 83% สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้แล้วบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน ปี 2566 นี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างได้มากขึ้น โดยสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้รวมประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน
ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ด้วยการดำเนินโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก “สี่แควโมเดล”
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการแก้มลิงแหลมทอง ต.พระนอน อ.เมืองนครสวรรค์ โดยเป็นการขุดลอกแก้มลิง 2 แห่ง เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรประมาณ 900 ไร่
ด้านรองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามการบริหารจัดการน้ำให้เป็นตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ส่วนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ขอให้มีการบูรณาการของทุกหน่วยงาน เพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว