วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ นายสัตวแพทย์อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ระวังโรคระบาดสัตว์ในหน้าฝน โดยได้เน้นย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเลี้ยงสัตว์ภายใต้การจัดการที่ดี และเหมาะสมในด้านสุขศาสตร์สัตว์ ทั้งด้านอาหาร น้ำดื่ม คอกและโรงเรือน การถ่ายพยาธิ การให้วัคซีนป้องกันโรค พร้อมทั้งสังเกตอาการในสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพราะห้วงนี้อากาศที่แปรปรวน อากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก น้ำท่วมขัง ก่อให้สัตว์เกิดความเครียด ร่างกายอ่อนแอ และภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำให้สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ทั่วไป รวมทั้งโรคระบาดที่รุนแรงได้ พร้อมเร่งดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยโรคสัตว์ที่อาจจะพบได้ในช่วงหน้าฝน ได้แก่
๑. โรคปากและเท้าเปื่อย
เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคระบาดที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร สัตว์ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ ๒ – ๘ วัน โดยมีอาการ ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นภายในปาก จมูก และไรกีบ ทำให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ เดินกะเผลก กีบหลุด ซูบผอม โตช้า แท้งลูก ผสมไม่ติด ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เมื่อสัตว์อายุ ๔ เดือนขึ้นไป โดยฉีดซ้ำทุก ๔ – ๖ เดือน
๒. โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย (โรคคอบวม)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่สำคัญในกระบือ อาจพบในโคบ้างแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการหยุดกินอาหาร ไข้สูง จากการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ หายใจเสียงดังหรือหอบ น้ำลายฟูมปาก ยืดคอไปข้างหน้า คอหรือหน้าบวมแข็ง และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง โรคป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนฯ เมื่อสัตว์อายุได้ ๖ เดือน และฉีดซ้ำทุกปี
๓. โรค PRRS
เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคระบาดในสุกร ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจ ทำให้สุกรมีการแท้งลูกในระยะท้ายของการตั้งท้อง สุกรในฝูงจะติดโรคจากการสัมผัสสุกรป่วย และการผสมพันธุ์ ป้องกันได้ด้วยการจัดการที่ดีและถูกต้องตามสุขศาสตร์สัตว์
๔. โรคไข้หวัดนก
เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดกับสัตว์ปีกเกือบทุกชนิด/ทุกสายพันธุ์ แม้โรคนี้จะไม่พบการเกิดโรคนี้ในประเทศไทยมากว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่ก็เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้วยเหตุที่เป็นโรคสัตว์ติดคน จึงควรเฝ้าระวังอยู่อย่างใกล้ชิด โดยหากสัตว์ปีที่ได้รับเชื้อนี้จะตายแบบเฉียบพลันโดยอาจไม่แสดงอาการใดมากนัก หากแสดงอาการจะมีอาการผิดปกติทั้งทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท หงอนเหนียงดำคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้งมีอัตราการตายสูงและอัตราการระบาดที่รวดเร็ว ป้องกันได้ด้วยการจัดการที่ดีและถูกต้องตามสุขศาสตร์สัตว์
๕. โรคนิวคาสเซิล
เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดกับไก่ ไก่งวง และสัตว์ตระกูลนก แสดงอาการจะมีอาการผิดปกติทั้งทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร อุจาระเป็นสีเขียว และระบบประสาท มีอัตราการตายสูงและอัตราการระบาดที่รวดเร็ว ป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนเมื่อสัตว์อายุได้ ๑ – ๓ วัน และให้ซ้ำทุก ๆ ๓ เดือน
๖. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดกับไก่ ไก่งวง และสัตว์ตระกูลนก แสดงอาการจะมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ มีน้ำมูก น้ำตา หายใจเสียงดัง มีอัตราการตายประมาณ ๒๕ – ๕๐ % และอัตราการระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว ป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนเมื่อสัตว์อายุได้ ๑๔ วัน และให้ซ้ำทุก ๆ ๓ เดือน
๗. โรคฝีดาษไก่
เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดกับไก่ ไก่งวง และสัตว์ตระกูลนก แสดงอาการจะมีอาการผิดปกติทั้งทางผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ โดยตุ่มฝีอักเสบสีน้ำตาลขึ้นตามหน้า หงอน เหนียง มีน้ำมูกไหล หายใจลำบาก ยืดคอสะบัดหัว มีอัตราการตายสูงในลูกไก่ ป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนเมื่อสัตว์อายุได้ ๗ วัน และให้ซ้ำทุก ๆ ปี
๘. โรคอหิวาต์สัตว์ปีก
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั้งเป็ดและไก่ มีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร เหนื่อยหอบนอนหมอบ อุจาระเหลวเป็นสีเหลือง หน้าดำคล้ำ ตามหงอน เหนียง ในเป็ดมักมีอาการแบบเฉียบพลันและมีอัตราการป่วย อัตราการตาย มากกว่าในไก่ ป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนเมื่อสัตว์อายุได้ ๔๕ วัน และให้ซ้ำทุก ๆ ๓ เดือน
๙. โรคไข้สามวัน
เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ทั้งในโคและกระบือ เป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วไปติดต่อกันได้แต่มิใช่โรคระบาด โคจะแสดงอาการเป็นไข้สูงเฉียบพลัน มีน้ำมูก น้ำลายไหลเล็กน้อย ตัวสั่น ไม่กินอาหาร นอนไม่ลุก เดินเจ็บขา ในกระบือจะพบน้อยกว่าโค หากไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อนและปฏิบัติต่อสัตว์อย่างถูกต้องเหมาะสม สัตว์จะหายเป็นปกติภายใน ๒ – ๓ วัน ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการจัดการที่ดีและเหมาะสม
๑๐. โรคพยาธิในเลือดในโค-กระบือ
เกิดจากเชื้อตระกูลโปรโตซัว เป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วไปติดต่อกันได้แต่มิใช่โรคระบาดโดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ เช่น เห็บ เหลือบ แมลงวันดูดเลือด ยุง เป็นต้น อาการป่วยซึม มีอาการทางประสาท ไข้สูง อุจาระแข็ง หรือบางครั้งเหลว ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม สีส้ม หรือปนเลือด แล้วแต่สายพันธุ์ของเชื้อที่ติดเข้าไป สัตว์อาจตายได้ และส่งผลต่อสุขภาพทำให้ผอมทรุดโทรม สามารถรักษาให้หายได้ ไม่มีวัคซีนป้องกันแต่สามารถป้องกันได้ด้วยการลดภาวะการถูกกัดจากแมลงดูดเลือด
นายสัตวแพทย์อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ยังเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ความสำคัญกับการจัดการโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันแดด ฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีการจัดเตรียมอาหาร น้ำ อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เตรียมเวชภัณฑ์ให้พร้อม ทำวัคซีนตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรงและต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มีการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม เช่น โรงเรือนมีรั้วรอบขอบชิด สามารถป้องกันสัตว์อื่นๆ หรือสัตว์พาหะเข้าสู่ฟาร์ม เข้มงวดบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม มีระบบป้องกันเชื้อโรคจากบุคคล เช่น เปลี่ยนรองเท้า เสื้อผ้า ตลอดจนฆ่าเชื้อโรคจากยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เป็นต้น ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพและสุขศาสตร์สัตว์ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยโปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการรักษาพยาบาลและตรวจสอบอย่างเร่งด่วน และหากเกษตรกรต้องการขอรับการสนับสนุนพืชอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้านท่าน
รายงานโดย กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์.