กสม. ร่วมมูลนิธิเมาไม่ขับ หารือแนวทางคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในการโดยสารรถจักรยานยนต์

กสม. ร่วมมูลนิธิเมาไม่ขับ หารือแนวทางคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในการโดยสารรถจักรยานยนต์ เรียกร้องรัฐวางนโยบายป้องกัน – ชวนสังคมไม่ละเลยสวมหมวกกันน็อกให้บุตรหลาน แก้ปัญหาเด็กเสียชีวิตวันละ ๑๐ คน

วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ความปลอดภัยในการโดยสารรถจักรยานยนต์ : สิทธิลูกหลานไทยที่ต้องคุ้มครอง” ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ ณ ห้องประชุม ๗๐๙ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวเปิดเวทีว่า ปี ๒๕๖๒ นี้ ถือเป็นปีสำคัญ เนื่องด้วยเป็นปีที่ ๓๐ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี แม้ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมในหลายมิติ แต่การคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยในชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะอันตรายแก่ชีวิตจากการโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อกนั้น ยังไม่ได้รับความสำคัญจากสังคมเท่าที่ควร เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา กสม. ได้ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับจัดเวทีสาธารณะเพื่อหารือและรับทราบถึงปัญหาและอันตรายที่เกิดแก่เด็กและเยาวชนที่โดยสารรถจักรยานยนต์ ตลอดจนแนวทางในการรณรงค์ให้เด็กสวมหมวกกันน็อกเป็นครั้งแรก ต่อเนื่องจากเวทีในครั้งนั้นจึงได้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนอีกครั้งในวันนี้ โดยได้เชิญหน่วยงานต่าง  ๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมให้ความคิดเห็น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ ๒) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยสำคัญเกิดจากความไม่ใส่ใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน เพราะความประมาทและไม่คาดคิดว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับเด็กได้ จึงไม่แปลกที่ในทุก ๆ เช้า เราจะเห็นภาพพ่อแม่ ผู้ปกครอง นำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนโดยไม่สวมหมวกกันน็อก ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็ไม่มีนโยบายที่เข้มงวดกวดขันกับผู้ปกครองที่ไม่สวมหมวกกันน็อกให้บุตรหลาน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับเด็กที่ไม่สวมหมวกกันน็อก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากมักจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมหากมีการจับเด็ก ๆ ส่งผลให้แต่ละปีมีเด็กและเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์สูงถึง ๓,๙๑๘ คนต่อปี หรือ เฉลี่ย ๑๐ คนต่อวัน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุให้รัฐภาคีต้องรับประกันความปลอดภัยของเด็ก ตลอดจนให้ความดูแลที่จำเป็นแก่เด็ก อย่างไรก็ดี การสวมหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุแก่เด็กเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังละเลยอยู่มาก และยังไม่เห็นว่าการละเลยในเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กที่ควรจะต้องได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ การใช้รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจนยังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งหากตำรวจดำเนินการจับกุมเด็กที่โดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อกก็มักจะถูกมองว่ารังแกคนจน กฎหมายจึงไม่อาจบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัด การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์จึงเป็นเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กจำนวนมาก

ด้านนายนิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนปัจจัยที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก เช่น การให้เด็กทุกคนได้ดื่มนมโรงเรียน การให้การศึกษาขั้นพื้นฐานและค่าหนังสือเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น แต่การสนับสนุนปัจจัยในการคุ้มครองความปลอดภัยบนท้องถนนแก่เด็กและเยาวชนกรณีหมวกกันน็อกสำหรับเด็กยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยตนเห็นว่าหมวกกันน็อกสำหรับเด็กควรเป็นอีกสวัสดิการหนึ่งที่รัฐควรสนับสนุน และหากผู้ปกครองยังไม่สวมหมวกกันน็อกให้เด็ก กฎหมายก็ต้องบังคับใช้และเอาผิดแก่ผู้ปกครองได้อย่างเคร่งครัด งขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร หรือ กฎหมายศาลจราจร เพื่อให้การคุ้มครองความปลอดภัยบนท้องถนนแก่เด็กและประชาชนทุกคนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

“แม้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี จะก้าวเข้าสู่ปีที่ ๓๐ แต่ปัญหาในการคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยในชีวิตของเด็กและเยาวชนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกบนท้องถนนยังถูกละเลยอย่างมากจากสังคม จึงขอเรียกร้องให้ผู้ปกครองใส่ใจเรื่องความปลอดภัยด้วยการจัดหาหมวกกันน็อกให้บุตรหลานสวมใส่ทุกครั้งที่นำบุตรหลานซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ขณะเดียวกัน ขอให้ภาครัฐกำหนดมาตรการเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารรถจักรยานยนต์ของเด็กและเยาวชนเป็นนโยบายสำคัญต่อไป” นายแพทย์แท้จริง กล่าว

 

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ