กรมประมง….มีแผน !!! เตรียมรับมือรับสถานการณ์อุทกภัย

จากสถานการณ์ที่มีฝนตกชุกต่อเนื่องและมีปริมาณมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นได้ในบางพื้นที่ของประเทศและอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคสัตว์น้ำที่มากับหน้าฝนในครั้งนี้ด้วย

นายบรรจงจำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์อุทกภัยปี 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยเหลือเกษตรกร  ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ การดำเนินการก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย และการดำเนินการหลังเกิดภัย

  1. การดำเนินการก่อนเกิดภัย

การเตรียมความพร้อม กรมประมงได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นปัจจุบัน ดำเนินการตรวจสอบสถานที่เลี้ยงจระเข้ให้มีความแข็งแรง ตรวจสอบจำนวน จัดทำบัญชีฟาร์มเลี้ยงให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ อวน กระชัง   เรือตรวจการประมง รถยนต์ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ

สำหรับเกษตรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าเมื่อเกิดอุทกภัยดังนี้

  1. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะ หรือมีปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. จัดทำร่องระบายน้ำ และขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก
  3. ปรับปรุงคันบ่อและเสริมคันบ่อให้สูงพอกับปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา
  4. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมี
    ไว้ให้พร้อม
  5. จัดเตรียมปูนขาวไว้สำหรับพื้นที่ดินกรด ดินเปรี้ยว เพื่อปรับสภาพน้ำในบ่อหลังน้ำท่วมประมาณ 50 – 60 กิโลกรัม
  6. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และฤดูกาล เพื่อให้สามารถจับได้ก่อนฤดู
    น้ำหลาก

ส่วนในด้านโรคสัตว์น้ำ อาจมีทั้งโรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เหาปลา เป็นต้น และโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอกคัส แอโรโมแนส ฟลาโวแบคทีเรียม เป็นต้น เกษตรกรควรควบคุมให้ปลามีความแข็งแรงอยู่เสมอ โดยเสริมอาหารประเภท วิตามินรวม วิตามินซี โปรไบโอติก เป็นต้น ทำความสะอาดกระชัง เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหารออกให้หมด ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค รวมทั้งควรควบคุมคุณภาพน้ำ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ให้เหมาะสมและคงที่อยู่เสมอ

  1. การดำเนินการขณะเกิดภัย

กรมประมงได้สั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เตรียมการรับสถานการณ์และให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานให้กรมประมงทราบทุกสัปดาห์ หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมง ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าตามความสามารถและศักยภาพของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วน เช่น การนำเรือตรวจการณ์ประมงออกช่วยเหลือนำผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ และการนำกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการลำเลียงเครื่องใช้อุปโภคบริโภคแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยขณะที่รอการช่วยเหลือ เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความสามารถและเต็มศักยภาพของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงกรมประมงพร้อมที่จะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการช่วยเหลือแก่เกษตรกรให้ทันท่วงทีอีกด้วย

  1. การดำเนินการหลังเกิดภัย

สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว หากได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้โดยให้หน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติได้ทันท่วงทีตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งถ้าหากเงินงบประมาณไม่เพียงพอก็สามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

ทั้งนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทราบถึงช่วงเวลาหรือภาวะภัยที่จะมาถึงเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ เพื่อหาวิธีป้องกันแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โปรดติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงได้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ท่านตามนโยบายของกรมประมง  รองอธิบดีกล่าว

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง