สคบ. เตือน !!! อย่าหลงเชื่อ “บัตรพลังงาน รักษาโรคได้”

จากกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่อง “บัตรพลังงาน รักษาโรคได้” โดยมีวิธีการนำบัตรไปแตะบริเวณที่ปวด หรือ นำแก้วน้ำไปวางบนบัตร และ นับ ๑ ถึง ๑๐ จากนั้น นำมาดื่ม และอีกวิธีหนึ่ง คือ การนำเอาบัตรไปจุ่มในแก้วน้ำแล้วนำมาดื่ม ซึ่งวิธีเหล่านี้สามารถช่วยอาการปวดให้ทุเลาลงได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีชาวบ้านจากจังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกชักชวนเข้าอบรมในการใช้บัตรสมาร์ทการ์ด เรียกบัตรนี้ว่า บัตรพลังงาน เพราะสามารถใช้รักษาอาการปวดหลังของตนเองได้ ซึ่งก่อนจะได้บัตรนี้มา มีคนจากบริษัทแห่งหนึ่งมาชักชวนให้เข้าอบรม และสาธิต สรรพคุณของบัตรให้ดู ช่วงระหว่างการสาธิต เมื่อพนักงานนำบัตรมาแตะที่ตัวตนเองรู้สึกมีอาการชา และพอนำบัตรออก ก็หายจากอาการชานั้น ตนจึงตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้สมาร์ทการ์ดนำกลับมาใช้ โดยสมัครครั้งแรก มีการให้เลขที่บัญชีกับเจ้าหน้าที่ และได้จ่ายเงินไป ๔,๔๐๐ บาท ได้บัตรมา ๕ ใบ หลังจากนั้นตนจึงนำมาบอกต่อ คนที่สนใจ โดยขายให้ในราคา ๑,๑๐๐-๑,๕๐๐ บาท เพื่อให้นำไปรักษาอาการปวดเมื่อย ซึ่งหากตนเองขายได้ และมีสมาชิกเพิ่มก็จะได้เงินเพิ่มเข้ามาในบัญชี ขณะนี้ ไม่เพียงแต่จังหวัดขอนแก่นเท่านั้นที่ซื้อบัตรพลังงาน มีชาวบ้านจังหวัดข้างเคียงก็มีบัตรลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งหลายคนไม่เชื่อว่าบัตรนี้จะสามารถรักษาอาการต่าง ๆ ได้

สคบ.  ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว พบข้อเท็จจริงว่า ในการดำเนินการดังกล่าว ได้มี บริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ทเวิร์ค จำกัด เป็นผู้จำหน่ายสินค้า ซึ่งเคยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรง จาก สคบ. เมื่อปี ๒๕๕๖ โดยขอจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสำอางและได้ถูกเพิกถอนทะเบียน  นับแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  เนื่องจากไม่มาวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรง ดังนั้น จากข้อเท็จจริง หากบริษัทยังประกอบธุรกิจขายตรงอยู่ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ฐานประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกทั้ง อาจเป็นความผิดฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าโดยใช้โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ สคบ. ได้ดำเนินการเรียกผู้ประกอบธุรกิจไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อไปแล้ว

อนึ่ง ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวข้างต้น สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน ๑๑๖๖