นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลติดตามหลังการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน ปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถาบันเกษตรกร และให้บริการสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โครงการดังกล่าว มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ มีการดำเนินการสนับสนุนเครื่องจักรกลฯ ในปี 2561 รวม 27 จังหวัด โดยสนับสนุนอุปกรณ์ให้แก่สหกรณ์ แบ่งเป็นอุปกรณ์ประเภทปศุสัตว์ 32 แห่ง อุปกรณ์ประเภทพืช 21 แห่ง และอุปกรณ์ประเภทประมง 3 แห่ง รวม 56 แห่ง โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนสำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 70 และสหกรณ์จ่ายสมทบในส่วนที่เหลือ อีกร้อยละ 30
สศก. ได้ติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการจากสหกรณ์ที่ขอรับการสนับสนุนรถเกี่ยวนวดข้าวจำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และชัยนาท โดยสัมภาษณ์สมาชิกสหกรณ์ 212 ราย ผลการประเมินเบื้องต้น พบว่า ที่ผ่านมา สหกรณ์ส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีรถเกี่ยวนวดข้าวมาก่อน โดยร้อยละ 90 ใช้วิธีการจ้างรถเกี่ยวนวดข้าวจากผู้ประกอบการเอกชน และหลังจากเข้าร่วมโครงการ ในปีเพาะปลูกข้าวนาปี 2561/62 สหกรณ์ได้รับจัดสรรรถเกี่ยวนวดข้าวครบทุกแห่ง และดำเนินการให้บริการรถเกี่ยวนวดข้าวแก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปรวม 1,021 ราย คิดเป็นพื้นที่ 12,177 ไร่ หรือเฉลี่ยรายละ 11.93 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการให้บริการ 5.30 ล้านบาท
ด้านการลดต้นทุนค่ารถเกี่ยวนวดข้าวของสมาชิกสหกรณ์/เกษตรกรทั่วไป พบว่า สหกรณ์คิดอัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยไร่ละประมาณ 435 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนคิดอัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยไร่ละประมาณ 528 บาท ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่ารถเกี่ยวนวดข้าวไร่ละ 93 บาท คิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่ลดลงรวมทั้งสิ้น 1.13 ล้านบาท โดยผู้ใช้บริการเห็นว่าการใช้บริการรถเกี่ยวข้าวของสหกรณ์ถูกกว่าผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนแล้ว ผลผลิตยังมีคุณภาพ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตน้อย และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา
ภาพรวมโครงการ พบว่า ผู้จัดการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรทั่วไป มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ โดยผู้จัดการสหกรณ์เห็นว่าการสนับสนุนรถเกี่ยวนวดข้าวเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของสหกรณ์ และยังเป็นการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์/เกษตรกรทั่วไปให้สามารถลดต้นทุนค่ารถเกี่ยวนวดข้าวลงได้ อย่างไรก็ตาม หลังมีการให้บริการแล้ว ยังพบประเด็นปัญหาการใช้งานรถเกี่ยวนวดข้าวในบางสหกรณ์ที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการใช้ของสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งยังมีพันธุ์ข้าวที่ปะปนกันในการเก็บเกี่ยวจากการเร่งรีบเก็บเกี่ยวข้าว ดังนั้น ควรมีการสนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพบริหารจัดการลงทุนขยายการให้บริการเพิ่มเติม มีการจัดอบรมเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้ขับรถเกี่ยวนวดข้าว เช่น การตรวจสอบรถเกี่ยวนวดข้าวก่อนการให้บริการ การทำความสะอาดรถเกี่ยวนวดข้าวในการเก็บเกี่ยวข้าวที่พันธุ์แตกต่างกัน และการดูแลรถเกี่ยวนวดข้าวหลังการให้บริการเสร็จ เป็นต้น ตลอดจนให้จัดทำระบบการให้บริการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ปี 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องโดยสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่สหกรณ์ และพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตรในสถาบันเกษตรกรซึ่ง สศก. จะได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการเพื่อเป็นแนวทางในการเสนอแนะและปรับปรุงการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป