นับแต่การรวมตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) หรืออาเซียน ในปี 2510 กระทั่งเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน ภูมิภาคแห่งนี้ได้ร่วมกันเดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงของทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่ง 52 ปี ที่ผ่านมาชาติสมาชิกอาเซียนต่างแสวงหาความร่วมมือภายใต้กรอบต่างๆ เพื่อร่วมกันรับกับความท้าทายใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศ
ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เกิดองค์กร เครือข่ายของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั่วภูมิภาค ขึ้นมาผลักดันอาเซียนให้เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือการสร้างโอกาสและศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ประชาชนในชาติสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สะดวก เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล (ASEAN Women Entrepreneurs Network) หรือ AWEN สากลเครือข่ายที่ขับเคลื่อนภารกิจทั้งประชาคมด้านเศรษฐกิจและประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล (AWEN) กล่าวว่า “AWEN สากล เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ เกิดการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถและเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ผู้นำองค์กร รวมถึงริเริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าของนักธุรกิจสตรีในภูมิภาคอาเซียน โดยความคิดริเริ่มการสร้างเครือข่ายนี้เกิดขึ้นจากการประกาศของประเทศเวียดนาม และได้รับการตอบรับจากประเทศสมาชิก พร้อมการผลักดันต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน เป็นเครือข่ายที่มีความสำคัญได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก หรือ ASEAN Commission on the Promotion of the Rights of Women and Children (ACWC)”
หลังจากเกิดเครือข่ายขึ้นแล้ว ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนประเทศต่างๆ ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประธาน AWEN สากล คราวละ 2 ปี โดยปี 2557-2559 ประเทศเวียดนามเป็นประธาน ปี 2559-2561 ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประธานและปัจจุบันระหว่างปี 2561-2563 ประเทศไทย โดยคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการอาเซียน ประเทศไทย หรือ AWEN ประเทศไทย เป็นประธาน
ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล (AWEN) กล่าวต่ออีกว่า “การทำงานของเครือข่าย ได้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการ AWEN สากล ซึ่งมีตัวแทนนักธุรกิจสตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นกรรมการ ร่วมกันกำหนดประเด็นและทิศทางที่นักธุรกิจในประเทศต่างๆจะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อรับกับกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป พร้อมกำหนดลงลึกไปถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการจากทั้ง 10 ประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสตรีผู้มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียน ซึ่งในส่วนประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลจากปีที่ผ่านๆมาแล้ว 40 คน และอีก 10 คนได้รับรางวัลในช่วงการจัดสัมมนาใหญ่ประจำปีของเครือข่ายระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ คณะกรรมการ AWEN สากลจะกำหนดทิศทางว่าแต่ละปีผู้ประกอบการต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง มีการนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จและให้แต่ละประเทศนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนานักธุรกิจในประเทศตัวเองผ่านเครือข่ายที่มีในประเทศ จากนั้นแบ่งหน้าที่กันโดยผู้แทนแต่ละประเทศรับเป็นผู้ติดตามความคืบหน้าจัดทำรายงานของแต่ละเรื่องเพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละเรื่องได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
“การทำงานของ AWEN สากล ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเครือข่าย คือการมีส่วนร่วมกันเพื่อสนับสนุน เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการสตรีในอาเซียนโดยเครือข่ายระดับภูมิภาคและพันธมิตร ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนสตรีในทุกภาคเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกอาเซียน” ประธาน AWEN สากล กล่าว
คุณหญิงณัฐิกา กล่าวว่า “ในส่วนของแผนงานการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียนปัจจุบันของ AWEN สากล ได้มุ่งเน้นไปที่ 7 ประเด็น นั่นคือ 1.ศักยภาพด้านดิจิทัลและการเข้าถึงตลาดแบบดิจิทัล 2. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน ความรู้และวินัยทางการเงิน 3.การ Re-skilling หรือพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการสตรีเอสเอ็มอีและแรงงาน 4.การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพึ่งตนเองสำหรับเอสเอ็มอี 5.การสร้างฐานข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลของสตรีในอาเซียน 6.การพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของผู้หญิงอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ และ 7.จัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยทั้งหมดได้รับการกำหนดเป็นหัวข้อหารือในการสัมมนาใหญ่ของเครือข่าย AWEN ประเทศไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 และ AWEN สากล ในวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา และได้สรุปผลความคืบหน้าในแต่ละด้านเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มาขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียนปี 2562”
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ภายใต้แผนงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 และแผนระดับชาติต่างๆ ประกอบด้วยภารกิจที่ต้องให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย และทุกกลุ่มเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุน AWEN ประเทศไทย ให้มีบทบาทในการส่งเสริมและนำศักยภาพของสตรีในภาคธุรกิจออกมาสนับสนุนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในภาพรวม และเชื่อมั่นว่าภารกิจนี้จะโดดเด่นขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียน ในวาระที่คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน AWEN ประเทศไทย เป็นประธาน AWEN สากลระหว่างปี2561-2563 นี้”