กฟผ. ออกประกาศงานประกวดราคาโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ นำร่องโครงการแบบไฮบริดแห่งแรกใหญ่ที่สุดในโลก กำหนดขายเอกสารประกวดราคาวันที่ 20 มิ.ย. – 26 ก.ค. นี้
นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ออกประกาศงานประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid) ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีกำหนดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2562 และ กฟผ. จะเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 – 10.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www4.egat.co.th/fprocurement/biddingeng/torSealedBids/675 หรือ โทรศัพท์ 02 433 9774
สำหรับโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำบนพื้นที่ผิวน้ำเนื้อที่ 450 ไร่ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass ซึ่งเหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการน้ำทั้งเวลากลางวันและกลางคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ช่วงกลางคืน ในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกันเพื่อให้ระบบมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น และนำระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีราคาต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุแบบเดียวกับท่อประปาจึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บริเวณพื้นน้ำของเขื่อน กฟผ. จึงไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตร และเส้นทางเดินเรือของชุมชน
โครงการดังกล่าวมีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2563 และ กฟผ. ยังเตรียมดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีกหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิต ทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018)