วันที่ 14 มิถุนายน 2562 นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ณ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธานในพิธีว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง ดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ –บอลิคำไซ) พร้อมทั้งอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลง
ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างนั้น ฝ่ายไทยใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท รวมค่างานที่ฝ่ายไทย ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 2,630 ล้านบาท ส่วนฝ่าย สปป.ลาว ใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 44 ล้านบาท รวมค่างานที่ฝ่าย สปป.ลาว ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง ประมาณ 36 เดือน
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปอีกว่า สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 (กม.123+430) อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และจุดสิ้นสุดโครงการที่กม.16+340.580 (จุดตัดถนนสาย 13) เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รูปแบบทางหลวงของโครงการเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร โดยจะมีช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร โดยถนนฝั่งไทยยาว 12.13 กิโลเมตร และถนนฝั่งลาวยาว 2.86 กิโลเมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (Extradosed Prestress Concrete Bridge) ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางและทางเท้าโดยมีความยาวช่วงข้ามแม่น้ำโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม (Border Control Facilities, BCF) อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว
เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาว รวมถึงทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะ “ยางพารา” ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ ที่เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศ ใน 1 วัน “ไทย-ลาว-เวียดนาม” หลังการคมนาคมเชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย