ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตที่ 3.4% ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 3.2% โดยจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ต้องเผชิญความท้าทายใหม่พร้อมกันหลายด้าน แนะภาคธุรกิจวางแผนรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว บางเขตเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากภาวะการเงินที่ตึงตัวตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ ยืนอยู่ในระดับสูงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่คาดว่าจะยังดำเนินต่อไป รวมไปถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และแนวนโยบายแบ่งขั้ว (de-globalization) ระหว่างกลุ่มประเทศ NATO กับรัสเซีย และสหรัฐฯ กับจีน ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
“Krungthai COMPASS มองว่าปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความท้าทายในหลายด้าน ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ใหม่ที่ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด จึงมีความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็น Transition Risk รูปแบบหนึ่ง โดยเศรษฐกิจโลกจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการฟื้นตัวไปสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยแบบไร้ตัวช่วยทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง กรณีสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอยเนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ขณะที่ยุโรปเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยเพราะประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ส่วนจีนชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และความไม่แน่นอนภายหลังทางการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศหลักในปีหน้ามีความซับซ้อนและหาสมดุลได้ยาก”
สำหรับไทยนั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.4% สูงกว่าปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น และภาวะการเงินในประเทศที่จะตึงตัวมากขึ้นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณถึงความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3% ในด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาถึง 21.4 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 สนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของให้กลับมาเกินดุล ส่วนค่าเงินบาทยังเผชิญความผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยประเมินว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.75 – 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
“Krungthai COMPASS ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจากเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยว จึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความท้าทายใหม่จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับค่าธรรมเนียม FIDF กลับไปที่เดิมที่ 0.46% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 โดยจะเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่า ณ สิ้นปี 2566 จะขึ้นไปสู่ระดับ 2.00% จึงเป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว ในภาวะที่ธุรกิจยังมีแรงกดดันต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความท้าทายสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึงในรูปแบบของ New K-shaped Economy ต่อไป”
ปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งครอบคลุมในหลายมิติ นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันกระแสโลกที่แปรเปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะด้านนโยบายใหม่ๆ อาทิ การเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป การกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และนโยบายของไทยที่มุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG เรื่องที่สอง คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มขั้น ซึ่งทำให้การแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักจะมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้องบริหารความเสี่ยงด้าน Cyber security อย่างรัดกุม เรื่องที่สาม คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดแรงงานที่ต้องมีการ Up & Re-skill อย่างเข้มข้นให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ตลอดจนการปรับแผนทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และเรื่องที่สี่ คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึงการยึดหลัก ESG สอดคล้องกับแนวโน้มที่ลูกค้าและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ทีม Marketing Strategy
19 ธันวาคม 2565