วันที่ 13 มิถุนายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการดูแลบำรุงรักษา และปรับปรุงพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟ (ตั้งแต่ถนนประชาชื่น ถึง ถนนกาญจนาภิเษก)ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยมี นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดินทำการแทนผู้ว่าการ กทพ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ กล่าวในรายละเอียดว่า โครงการทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบมาพร้อมกับโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน และถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) โดย รฟท. ได้ดำเนินการโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองดังกล่าวก่อนการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนฯ ได้มีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟไว้บางส่วนระยะทางประมาณ12.5 กิโลเมตร ซึ่ง กทพ. ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนฯ บนพื้นที่ของ รฟท. ต่อมาได้มีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟส่วนที่เหลือจบครบถ้วน ประกอบด้วย พื้นที่ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันออกระยะทางประมาณ 2.1 กิโลเมตร ซึ่ง กทพ. ได้ส่งมอบให้เทศบาลเมืองบางกรวย และพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศเหนือ ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกถึงถนนกาญจนาภิเษกและพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศใต้ ตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษกถึงถนนจรัญสนิทวงศ์รวมทั้ง ถนนเลียบทางรถไฟฝั่งพระนครตั้งแต่ถนนประชาชื่นจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ พระราม 7 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ รฟท. ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่ที่ กทพ. เวนคืนเพิ่มเติม ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติเมื่อดำเนินการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟแล้วเสร็จ จะต้องส่งมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นเช่น กรุงเทพมหานครและเทศบาลเมืองบางกรวยรับมอบเพื่อดูแลบำรุงรักษาและประกาศเป็นถนนสาธารณะก่อนจะขอบรรจบไฟฟ้าสาธารณะต่อไป
ทั้งนี้ รฟท. ได้ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2555 และ กทพ. ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ก่อสร้างในโครงการทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนฯ ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี2559 ซึ่งปัจจุบันเทศบาลเมืองบางกรวย ได้รับมอบถนนเลียบทางรถไฟแบบต่อบรรจบไฟฟ้าสาธารณะเรียบร้อยแล้ว แต่กรุงเทพมหานครยังไม่รับมอบถนนดังกล่าว
“การทางพิเศษฯ จึงได้ประสานการรถไฟแห่งประเทศไทย และทราบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟให้กรมทางหลวงชนบท ดูแล บำรุงรักษา การทางพิเศษฯ จึงขอความอนุเคราะห์กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางการดำเนินการ โดยการมอบถนนเลียบทางรถไฟให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและรับมอบเป็นถนนสาธารณะ ต่อมากระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทพิจารณาความเป็นไปได้ในการรับมอบพื้นที่ดังกล่าว โดยให้เข้าไปสำรวจพื้นที่ร่วมกับการทางพิเศษฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ประชุมหาข้อสรุปและทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขร่วมกันในการรับรอบถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ให้กรมทางหลวงชนบทเพื่อประกอบการดูแลบำรุงรักษา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยสรุปได้ว่า กรมทางหลวงชนบทไม่ขัดข้องในการรับมอบถนนเลียบทางรถไฟเพื่อดูแล บำรุงรักษา โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยและกรมทางหลวงชนบท จึงได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือฯ แล้วเสร็จ และเป็นที่มาของพิธีลงนามในวันนี้” นายสุทธิศักดิ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด