ไทยหารืออียู เร่งกู้วิกฤตกลไกระงับข้อพิพพาท WTO รับมือการกีดกันการค้าโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย – สหภาพยุโรป ครั้งที่ 14 แลกเปลี่ยนแนวทางรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียว พร้อมเร่งหารือการปฏิรูปการทำงานของ WTO และผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ให้คืบหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย – สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 14 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ไทยและอียูได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยและอียูจึงควรร่วมมือกันปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคี โดยมีประเด็นเร่งด่วนคือการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทน 6 ใน 7 ตำแหน่งที่จะว่างลงในปลายปีนี้ก่อนที่กระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ WTO จะหยุดชะงักลง รวมถึงการปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาท และการผลักดันให้การเจรจาในเรื่องที่ค้างอยู่มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี WTO เช่น การจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำความตกลงการอุดหนุนประมง เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายยังใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าเรื่องการเจรจาเอฟทีเอที่แต่ละฝ่ายจัดทำกับประเทศอื่น โดยเฉพาะความคืบหน้าการเจรจาเบร็กซิทกับสหราชอาณาจักร สำหรับการสานต่อการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ซึ่งอียูจะต้องรอนโยบายของรัฐสภาชุดใหม่ โดยไทยเองก็ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ อียูให้ความสนใจความคืบหน้าการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน รวมถึงแสดงชื่นชมที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนสามารถผลักดันให้การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนมีความคืบหน้าได้หลายเรื่อง

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้อียูทราบถึงความคืบหน้าของไทย เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการออกกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าของผู้ประกอบการ เช่น การปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายศุลกากร กฎหมายดิจิทัล และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในปีนี้ ดีขึ้นจากปีก่อนถึง 5 อันดับ พร้อมทั้งแจ้งให้อียูทราบถึงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ 12 สาขา โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเชิญชวนให้อียูเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายอียูเห็นว่าข้อมูลความคืบหน้าด้านนโยบายและการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าของไทยเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการลงทุนของไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และมากกว่ามูลค่าที่อียูเข้ามาลงทุนในไทย โดยในปี 2561 การลงทุนของไทยในอียูคิดเป็นมูลค่า 11,316 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 7,055 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนด้านการค้า อียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 47,300 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 ซึ่งไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียูมูลค่า 22,250 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และ 8.1 จากปี 2560 ตามลำดับ