วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการชี้แจงสื่อมวลชน กรณีที่มีข่าวการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สคบ. เข้ามาทำทีว่าเป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านเครื่องเสียง และร้านค้าอื่นๆ ในบริเวณจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ตาก พิษณุโลก อุตรดิถต์ ฯลฯ โดยในแต่ละครั้งมีบุคคลและกลุ่มบุคคลแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในร้านค้า พร้อมทั้งอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักคณะกรรกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. โดยเข้าไปยึดสินค้าไปหลายรายการพร้อมแจ้งว่าที่ร้านขายสินค้าผิดหลายอย่าง บางชิ้นเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย โดยแจ้งว่าไม่มีฉลาก คู่มือไม่ใช่ภาษาไทย ไม่มีตรามาตรฐานหรือ มอก.จากนั้นได้ข่มขู่ว่าต้องเสียค่าปรับกว่า ๑ แสนบาท และเชิญตัว เจ้าของร้านไปพูดคุยหว่านล้อมโดยเรียกเงินแลกกับการที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดีโดยเรียกเงินในเบื้องต้น จำนวน ๓๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท นั้น
สคบ.ขอชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าดังนี้
๑. การลงพื้นที่ตรวจสอบทุกครั้งจะมีหนังสือแจ้งให้ทางร้านทราบล่วงหน้า หรือมีหนังสือให้เจ้าหน้าที่นำไปแสดงต่อร้านค้าอย่างเป็นทางการทุกครั้ง
๒. เจ้าหน้าที่จะแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เห็นอย่างชัดเจน
๓. เจ้าหน้าที่ สคบ.จะสวมเครื่องแบบชุดปฏิบัติการสีน้ำเงินเข้ม มีป้ายชื่อเจ้าหน้าที่และสำนักงานฯ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
๔. ในการตรวจฉลากสินค้าทุกครั้งจะมีเอกสารบันทึกผลการตรวจ ซึ่งจะแจ้งว่าสินค้าชิ้นใดมีการจัดทำฉลากถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในข้อใด ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนามในเอกสารเพื่อรับทราบทุกครั้ง
๕. กรณีมีการจัดทำฉลากสินค้าที่ไม่ถูกต้อง สคบ. จะมีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาชี้แจงยังที่ทำการ สคบ. เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขให้ถูกต้อง หรือพิจารณาเสนอคณะอนุกรรมการ เพื่อเปรียบเทียบปรับต่อไป
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบฉลากสินค้าทุกครั้ง จะไม่มีการยึด อายัดสินค้า ยกเว้น เป็นสินค้าที่เป็นสินค้าอันตรายที่มีคำสั่งห้ามขาย หรือสงสัยว่าอาจเป็นอันตราย ซึ่งจะจัดเก็บสินค้าไปเพียงที่จำเป็นเท่านั้น โดยจะไม่มีการเปรียบเทียบปรับหรือเรียกเงินใดๆ ณ สถานที่จำหน่าย
หากผู้ใดพบเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ให้ถ่ายภาพหรือเป็นคลิปไว้และแจ้งให้ สคบ. ทราบทาง สายด่วน สคบ.๑๑๖๖
เรื่อง แนวทางการจัดทำฉลากของสินค้า ประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยที่มีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคข่มขู่ที่จะทำการยึดทรัพย์-เรียกรับผลประโยชน์หรือไถเงินร้านค้าในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของประเทศโดยมีการอ้างข้อกฎหมายในเรื่องของการจัดทำฉลากสินค้าประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงขอชี้แจงเกี่ยวกับแนวทาง การจัดทำฉลากประเภทชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีขนาดเล็กที่ไม่สามารถจัดทำฉลากสินค้าไว้ที่ตัวสินค้าได้ โดยให้สินค้าประเภทดังกล่าวสามารถจัดทำฉลากไว้ในคู่มือหรือเอกสารหรือบัญชีราคาสินค้า (Price list) หรือป้ายติดตั้งไว้ ณ จุดที่ขายได้โดยให้สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน ทั้งนี้ ต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑. ชื่อสินค้า
๒. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
๓. กรณีนำเข้าต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งหรือผู้นำเข้า และระบุประเทศผู้ผลิต
๔. ขนาดหรือมิติหรือปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า
๕. วิธีใช้
๖. ข้อแนะนำในการใช้
๗. คำเตือน (ถ้ามี)
๘. วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน
๙. ราคาระบุหน่วยเป็นบาท