Key Highlights
- ตลาดเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก (Green Furniture หรือ Eco-Friendly Furniture) เป็นเทรนด์ของเฟอร์นิเจอร์ ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าตลาด Green Furniture ทั่วโลก จะมีมูลค่าแตะระดับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.0% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 1.4 เท่า
- ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของ Green Furniture ได้แก่ 1) พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอาคารรักษ์โลก (Green Building) ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Sustainable Furnishings Council พบว่า ผู้บริโภค 87% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยยังมี room to grow ในการขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น เนื่องจากยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก โดยฉพาะในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่ง Green Furniture ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
Krungthai COMPASS
“รักษ์โลก” กระแสที่ยังมาแรงต่อเนื่องที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ สอดคล้องกับรายงาน Tetra Pak Index ในปี 2564 ที่ได้มีการสำรวจแรงจูงใจและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 9 ประเทศ พบว่า 83% มีความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันในปี 2564 ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาแจ้งเตือนวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศโลกอยู่ในระดับ “สีแดง” ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกภูมิภาคทั่วโลกในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อาทิ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักขึ้นและทำให้น้ำท่วม ความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามกระแสรักษ์โลก โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่หันมาผลิต “เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก” ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Green Furniture หรือ Eco-Friendly Furniture ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากกระบวนการผลิต และการกำจัดทิ้งหลังจากไม่ใช้งานแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลจาก European Environmental Bureau (EEB) ระบุว่า ในแต่ละปีมีเฟอร์นิเจอร์ในประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ถูกเผาหรือฝังกลบไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน ขณะที่ข้อมูลรายงานจาก My Tool Shed (UK) ระบุว่า โดยเฉลี่ยการผลิตเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศประมาณ 47 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการเผาไหม้ของน้ำมัน 20 ลิตร นั่นเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งว่าทำไมเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture จะมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และก่อนที่จะไปดูว่าอนาคต Green Furniture จะเป็นอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับ Green Furniture กันก่อน
ทำความรู้จักกับ…Green Furniture
“เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture” คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งการผลิตเฟอร์นิเจอร์ประเภทนี้จะให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานหลักๆ ได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังต้องออกแบบให้ดูดีมีสไตล์ และสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ (Stylish Functional and Affordable Lifestyle Furniture) ได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีการเลือกวัสดุและวิธีการผลิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการผลิตต้องใช้สารเคมีน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้าง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงวิธีการกำจัดหลังใช้งานไม่ได้แล้ว ซึ่งอาจนำไปรีไซเคิลต่อได้ หรือผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ เพื่อสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ตลาด Green Furniture มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากกระแส Green Business และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แม้ในปัจจุบันตลาด Green Furniture จะมีสัดส่วนเพียง 10.3% ของมูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์รวมทุกผลิตภัณฑ์ทั่วโลก [1]ที่มีมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ [2]แต่คาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ ทั้งในแง่ของผู้บริโภครายย่อย และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจโรงแรม
โดยข้อมูลจาก Research and Markets ระบุว่า ในปี 2570 ตลาด Green Furniture จะมีมูลค่าแตะระดับ 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7.0% ต่อปี (ปี 2565-2570)
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของ Green Furniture ได้แก่
- พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ส่งผลให้ความต้องการ Green Furniture เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากผลสำรวจ Green Home Furnishings Consumer Survey ในปี 2564 ของ Sustainable Furnishings Council พบว่า ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ครั้งต่อไป ผู้บริโภค 86% ให้ความสำคัญกับเลือกใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค 87% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่กว่า 39% (4 ใน 10) เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 10% จากราคาสินค้าปกติ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Statista ที่ระบุว่า ผู้บริโภค 76% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 60% เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 5-10% จากราคาสินค้าปกติ
- การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอาคารรักษ์โลก (Green Building) จะส่งผลให้ความต้องการใช้ Green Furniture ขยายตัวตาม โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวน Green Building ทั่วโลกที่ได้มาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ทั้งสิ้น 93,000 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่า 62% จาก 57,340 โครงการในปี 2560 และมีโอกาสที่จะขึ้นไปแตะระดับ 108,000 โครงการในปี 2567 ตามเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวน Green Building ในไทยที่ได้มาตรการ LEED ก็คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 132 โครงการในปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ 254 โครงการในปี 2565 ก่อนที่จะขึ้นไปแตะระดับเกิน 300 โครงการได้ในปี 2567 (รูปที่ 2)
เนื่องจากการเลือกใช้ Green Furniture สามารถตอบโจทย์หัวข้อในการประเมิน Green Building ตามมาตรฐาน LEED ได้ถึง 2 ด้าน คือ Material & Resource (MR) และ Indoor Environmental Quality (IEQ) โดย ในหัวข้อ MR จะประเมินจากการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง หรือที่ไม่ได้รับมาตรฐานด้านการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ Green Furniture อาทิ เฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล และวัสดุท้องถิ่นที่สามารถปลูกทดแทนได้เร็ว จึงจะช่วยให้อาคารสามารถได้รับคะแนนในการประเมิน Green Building ในหัวข้อ MR ได้ เช่นเดียวกับหัวข้อ IEQ ที่มีเป้าหมายให้ผู้ใช้อาคารอยู่สบายและมีสุขภาพดีเมื่อใช้ชีวิตประจำวันในอาคารผ่านการกำหนดมาตรฐานการระบายอากาศและสิ่งปนเปื้อนในอากาศ การใช้ Green Furniture ที่ปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) อยู่ในระดับ ต่ำก็จะช่วยให้อาคารได้รับคะแนนจากการประเมินมาตรฐาน Green Building ในหัวข้อ IEQ ได้เช่นกัน
สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก
สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก โดยในปี 2564 มีมูลค่านำเข้าราว 7.4 และ 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 64% ของมูลค่านำเข้าเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งโลก (สหภาพยุโรป 33% สหรัฐฯ 31%) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เติบโตเฉลี่ย 7.9% ต่อปี (CAGR ปี 2559-2564) ขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.0% (CAGR ปี 2559-2564)
ซึ่งทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต่างเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการขับเคลื่อนนโยบายและบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนในการลดก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มักจะถูกหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสเป็นวัสดุที่ได้มาจากทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่นอกจากจะต้องตัดไม้จำนวนมากแล้ว ยังมีโอกาสที่จะใช้ไม้ที่ได้จากการรุกล้ำพื้นที่ป่า สำหรับมาตรฐานที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป นำมาบังคับใช้ เช่น มาตรฐาน Eco3Home มาตรฐาน EU Ecolabel มาตรฐาน European Standard Class 1 [3]มาตรฐาน ECOLOGO
สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์เป็นอันดับที่ 25 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.7% ของมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งโลก ซึ่งผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายสำคัญของโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม โปแลนด์ ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งโลก
อย่างไรก็ดี การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง และไทยยังมี room to grow เนื่องจากยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก โดยมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (2561-2564) อยู่ที่ 12.3% ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้มากที่สุด 30.4% และตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯ ที่นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทย 648 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,126 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 47.2% ของมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทย และเมื่อพิจารณาแนวโน้มการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยของสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 และมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2561 สะท้อนว่า สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ พอสมควร จึงถือเป็นโอกาสที่ดี และเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยจะต่อยอดจากตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปสู่ตลาด Green Furniture ที่มีแนวโน้มเติบโต และเป็นเทรนด์ของเฟอร์นิเจอร์ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจ Green Furniture
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในธุรกิจ Green Furniture ได้แก่
Implication:
- Krungthai COMPASS มองว่า ตลาด Green Furniture ทั่วโลก ยังเป็น Segment ที่มีโอกาสเติบโต ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตามกระแสรักษ์โลกที่มีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญอย่างมาก และมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่ New Business Model โดยหันมาใช้แนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) มากขึ้น และการปรับอาคารสำนักงานไปสู่อาคารรักษ์โลก (Green Building) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายบริษัทเลือกดำเนินการ ทำให้อาคารรักษ์โลก (Green Building) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ Green Furniture ขยายตัวตาม เนื่องจากการเลือกใช้ Green Furniture สามารถตอบโจทย์หัวข้อในการประเมิน Green Building ตามมาตรฐาน LEED ได้ถึง 2 ด้าน คือ Material & Resource (MR) และ Indoor Environmental Quality (IEQ) นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของตลาด Green Furniture โดยเฉพาะ Green Furniture ประเภท Luxury ที่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยในการออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ประเภท Green Furniture เพื่อขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น โดยไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของวัสดุที่มาจากธรรมชาติที่หลากหลาย และหัวใจสำคัญของการผลิต Green Furniture ที่จะเข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า นอกเหนือจากการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็คือ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีความโดดเด่น โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานเป็นหลัก และมาพร้อมกับฟังก์ชันที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ไทยยังมีความท้าทายที่สำคัญ คือ 1) การยอมรับเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ไทยในต่างประเทศ 2) รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3) การผลิตสินค้าเลียนแบบแล้วขายตัดราคา ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในธุรกิจ Green Furniture ได้แก่ 1) ความสามารถในการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม และออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลาย 2) การออกแบบและพัฒนาสินค้าใหม่สู่ตลาดให้รวดเร็วและสม่ำเสมอ 3) ศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับตรารับรองสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรปที่อาจมีการแก้ไขกฎระเบียบในการขอฉลาก EU Ecolabel ให้เข้มงวดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ดังนั้น ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยควรติดตามการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาด EU ได้มากขึ้น 4) การแยกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้ตรงจุด
[1] ที่มา: ข้อมูลจาก Research and Markets ประเมินโดย Krungthai COMPASS
[2] ที่มา: ข้อมูลจาก Research and Markets
[3] มาตรฐาน European Standard Class 1 เป็นมาตรฐานไม้ที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น กำหนดให้ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เพราะมีระดับสารฟอร์มัลดีไฮด์ต่ำเพียง 0.008%