พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรและสังฆทานถวายในการที่คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ร่วมกันจัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยแด่ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในโอกาสที่ทรงพระประชวร วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 เวลา 11.30 น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้จัดพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ในครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการสวดมนต์หรือการเจริญพระพุทธมนต์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตรายจากโรคภัยต่างๆ และทำให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์ สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตาและทำใจให้สงบเป็นสมาธิก็จะทำให้พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนายังได้ประสานไปยังองค์การทางศาสนา ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายพระพรแด่พระองค์ ณ ศาสนสถานตามธรรมบัญญัติของแต่ละศาสนาอีกด้วย
สำหรับการสวดพระปริตรหรือพระพุทธมนต์นี้อันเกี่ยวเนื่องกับหลักโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ดาวนพเคราะห์ประจำวันทั้ง 9 คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันราหู (วันพุธกลางคืน) และวันที่สมมติอีก 1 วัน ที่มีนามว่าพระเกตุ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่ทราบวันเกิด ซึ่งหลักคัมภีร์ทางโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในวันทั้งเจ็ดนี้มีเทวดาคุ้มครองเกี่ยวข้องด้วยกำเนิดมนุษย์ อันอาจส่งผลให้เกิดคุณเกิดโทษ ทำให้เกิดทุกข์โศก โรคภัย หรือทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืนยาวหรือสั้นได้ ซึ่งตามโบราณประเพณี เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปีนักษัตรหรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะมีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายคนดีตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา