สิ่งที่เจ้าของรถทุกคนควรรู้ ในเรื่องของประกันภัยภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. เพราะประกันภัย พ.ร.บ.มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอก จะได้รับจากประกันภัย พ.ร.บ. นั่นก็คือ ความคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยจากรถ จะได้รับการเยียวยา หรือได้รับความช่วยเหลือในส่วนของค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ เมื่อมีอุบัติเหตุจากรถเกิดขึ้น โดยชื่อของประกันภัยดังกล่าว ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นประกันภัย “ภาคบังคับ” จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ดังนั้นรถทุกคันจึงอยู่ในข่ายบังคับให้ต้องมีประกันภัย พ.ร.บ. ***ถ้าไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. เท่ากับ “ผิดกฏหมาย” ***
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของรถต้องจัดให้มีการทำประกันภัยภาคบังคับไว้ในกฏหมาย โดยบัญญัติว่า “เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย” ซึ่งหากเจ้าของรถผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่จัดให้มีการประกันภัยดังกล่าว เจ้าของรถผู้นั้นมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
และนอกเหนือจากเจ้าของรถที่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันภัยภาคบังคับแล้วนั้น ในส่วนของผู้ใช้รถเอง กฏหมาย ก็ได้กำหนดไว้เช่นกันว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย” ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือแม้จะไม่ใช่เจ้าของรถแต่เป็นเพียงผู้ใช้รถก็มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่ากฏหมายให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. ค่อนข้างมากทีเดียว เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว คงหลีกหนีไม่พ้นในเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้น การมีประกันภัย พ.ร.บ. จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเสียหายเหล่านั้นได้ ซึ่ง พ.ร.บ. ไม่ได้รับผิดชอบเพียงแค่ชีวิตผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถเท่านั้น แต่ยังรับผิดชอบถึงคนในสังคมทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้อีกด้วย
และโทษอีกประการนอกเหนือจากโทษทางกฎหมายแล้วนั้นก็คือ หากนำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.มาใช้เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ประสบภัยจะเสียสิทธิไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆทั้งสิ้นและต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
ดังนั้นเมื่อจะต้องมีการนำรถมาใช้ ผู้ขับขี่จะต้องมีการตรวจดูกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ.ของรถที่จะนำมาใช้ว่ายังมีความความคุ้มครองหรือไม่ เพื่อให้ตัวของผู้ขับขี่ ผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกมีหลักประกันตามกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้รับการคุ้มครอง และไม่ผิดกฎหมายอีกด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเจอเหตุการณ์ “เจอเป็นจับ ปรับเป็นหมื่น”
อุบัติเหตุเมื่อเกิดขึ้นผู้ที่ประสบภัยจากรถทุกคนจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ความคุ้มครองทันทีที่ผู้ขับขี่ผู้โดยสาร บุคคลภายนอกจะได้รับ เรียกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุโดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ภายใน 7 วัน (โดยไม่รอผลพิสูจน์ความรับผิด) ได้แก่ค่ารักษาพยาบาลตามการรักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือจ่ายเป็นค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท ต่อคนหากเสียชีวิต
และหลังจากได้พิสูจน์ความรับผิดแล้ว จะจ่ายเป็น“ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด” (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นด้วย) กรณีบาดเจ็บจะจ่ายตามการรักษาจริงสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเสียชีวิต 300,000 บาท สำหรับผู้ป่วยในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน (ยกเว้นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)
สำหรับประชาชนที่ไม่ทราบว่าจะไปใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือค่าสินไหมทดแทนได้ที่ใด รวมทั้งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ผู้ประสบภัยจากรถสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลการเบิกประกันภัย พ.ร.บ.หรือคำถามเกี่ยวกับการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ได้ที่ www.rvp.co.th ซึ่งจะมีข้อมูลดังกล่าวแสดงอยู่บนหน้าเว็ปไซต์หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง