กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เร่งทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 4 ด้าน ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์วิชาการวิจัย ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เกิดความครอบคลุมทั้งกระบวนการ มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นเลิศด้านการบริการสุขภาพและเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.ได้ขับเคลื่อนนโยบายเมดิคัลฮับให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของนานาชาติ จึงได้เร่งทบทวนการดำเนินงาน เพื่อปรับกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ให้เกิดความครอบคลุม ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) 2.การเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 3.การเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และ4.การเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2560 – 2569 โดยมุ่งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการบริการด้านการแพทย์ของไทย และการบริการเพื่อสุขภาพให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับนานาชาติได้ กระตุ้นเศรษฐกิจดึงรายได้เข้าประเทศ
การดำเนินงานที่ผ่าน กรม สบส. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง Claim Center ในการช่วยเหลือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติสำหรับสถานพยาบาลภาครัฐ เพื่อลดปัญหาหนี้สูญแก่สถานพยาบาล ผลักดันนโยบาย EEC และ BOI ให้เกิดการลงทุนในเขต EEC เน้นด้านเครื่องมือแพทย์และจัดทำแพ็คเกจพิเศษ การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยในกลุ่มประเทศ CLMV และจีน การขยายการตรวจลงตราประเภทพำนักระยะยาว รวม 10 ปี ใน 14 ประเทศ ด้านการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพได้พัฒนาให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็น Wellness City แบบครบวงจร รวมถึงผลักดันนวดไทยเป็นมรดกโลก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรม สบส. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปกลไกการดำเนินงาน (Retreat) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (2560 – 2569) เมื่อวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2562 ที่ผ่าน ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 100 คน