วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน การประชุมวิชาการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (DTAM Forum) หัวข้อ “กัญชา ภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพ”
โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความรู้จากหลากหลายหน่วยงาน เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การเดินหน้าให้ความรู้เรื่องกัญชาที่ถูกต้อง เป็นภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ และกรมฯ ให้ความสำคัญจึงเร่ง นำภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาให้ความรู้ในกิจกรรม การประชุมวิชาการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (DTAM Forum) กระทั่งครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ดำเนินการแล้ว และมีแผนดำเนินการเช่นนี้ตลอดไตรมาสแรก การนำองค์ความรู้เรื่องกัญชาจากหลากหลายมุมมอง จะสร้างความรู้ และประสบการณ์ในการใช้กัญชาอย่างถูกต้องในทุกแง่มุม ซึ่งจะต่อยอดให้เกิดการใช้กัญชาทั้งทางด้านการสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ยังผลให้เกิดความเชื่อมั่น และต่อยอดองค์ความรู้สร้างโอกาสในการใช้ยา และโอกาสในการต่อยอดเศรษฐกิจ
ข้อมูลต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ จะนำไปสู่การวิจัยต่อยอด อันจะสร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้กัญชาอย่างเหมาะสม ทางด้านประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ. 2562 จากนั้นมีประกาศอื่น ๆ ตามมา โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน สามารถปรุงหรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่เพื่อรักษาโรคและวิจัยได้ จึงเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้กรมฯ ต้องจัดอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “กัญชา ภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพ” ในงาน DTAM Forum วันนี้
จากการประชุมดังกล่าว วิทยากรมีทั้งนักวิชาการ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน นักวิจัย ได้ร่วมพูดคุยและมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ นพ.จักราวุธ เผือกคง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้กัญชาในสมัยก่อนใช้ในรูปแบบตำรับยา โดยคำนึงถึง “รสยา” (เป็นตัวบ่งบอกว่าจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร) “กำลังโรค” (อาการคนไข้แต่ละคนหนักเบาแตกต่างกัน) “กำลังยา” (โอสถสารในแต่ละต้นมีไม่เท่ากัน) ส่วนการนำกัญชามาใช้ในปัจจุบันต้องสามารถบอกได้ว่าได้ผลดี บ่งบอกฤทธิ์ยากัญชาที่ส่งผลต่อร่างกายได้โดยเชื่อมโยงกับมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยงานวิจัย ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาการวิจัยตำรับยา หลักการใช้ยากัญชาและยาสมุนไพรอื่น ๆ คือ ต้องได้ผลการรักษาที่ดีมากกว่าอันตราย โดยอันตรายต้องควบคุมได้ และการเข้าถึงยาต้องทั่วถึง
ปัจจุบันมีกลุ่มยาที่มีกัญชาผสมอยู่ จำนวน 16 ตำรับ ซึ่งใช้ในการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งบางตำรับมีกัญชาปริมาณมาก บางตำรับมีปริมาณน้อย แพทย์แผนปัจจุบันมีข้อบ่งใช้กัญชาในกลุ่มโรค/อาการอย่างชัดเจน ก่อนนี้ใช้สำหรับโรคลมชัก อาการคลื่นใส้ อาเจียน แต่ขณะนี้มีการนำมาใช้ในผู้ป่วย Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคอง) CA end stage (มะเร็งระยะสุดท้าย : ใช้ร่วมรักษาให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น) Fibromyalgia (ปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย) Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้วว่ามีผลการรักษาที่ดี
รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากนโยบายกัญชาจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกัญชา กัญชง ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ด้านการบริการ ด้านการวิจัย ด้านการวิจัย ดำเนินโครงการวิจัยติดตามลักษณะการใช้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา) โรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 30 แห่ง เป็นการวิจัยเชิงสังเกต ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ ระยะเวลา 12 เดือน กลุ่มตัวอย่าง 21,284 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ ESAS และ EQ-5D-5L ระยะที่ 1 รับกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มโรค ระยะที่ 2 รับกลุ่มตัวอย่าง 3 โรค (โรคมะเร็ง ไมเกรน พาร์กินสัน) ผลการศึกษาคุณภาพชีวิต (Quality of life) วัดจาก ESAS: เห็นผลชัดเจนระหว่างเดือนที่ 1- 2 EQ-5D-5L: โดยรวมดี
นอกจากนี้ พบว่านำมันกัญชาลดปวดในแต่ละโรคได้ไม่เท่ากัน (ลดปวดไมเกรนได้ผลดีที่สุด) ผลการศึกษาลักษณะการใช้ พบว่า เป็นการสั่งใช้โดยวิธีหยดใส่ปาก 92.99% นอกจากนั้นจะหยดใส่หู หยดทางช่องคลอด ทาผิว ตามลำดับ และเป็นการใช้มื้อก่อนนอน 97.03% ส่วนจำนวดหยดที่สั่งใช้ คือ ( 2 – 4 หยด )
การต่อยอดกัญชาในอนาคต โดยการนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติไม่ใช่เป้าหมายเดียว ซึ่งการนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติมีทั้งแง่ดีและไม่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การนำสมุนไพรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ แต่อยู่ที่ผลิตภัณฑ์มีมากเกินไปไม่มุ่งเน้น ดังนั้นต้องตั้งเป้าในการนำสมุนไพร เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยนำตำรับยาที่มีหลักฐานครบเข้าพิจารณาก่อน ส่วนตำรับที่หลักฐานวิชาการยังไม่ครบ ต้องคิดวิธีการสนับสนุนอื่น ๆ ต่อไป
ภก.มะโนตร์ นาคะวัจนะ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สสจ.อุดรธานี, ผู้ช่วย นพ.สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า ด้วยน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา ได้รับความนิยมทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่พอ จึงคิดค้นน้ำมันกัญชาขมิ้นทอง โดยขออนุญาต อย. เพื่อการวิจัยในเขตสุขภาพที่ 8 ในโรงพยาบาล 32 แห่ง ระยะเวลา 12 เดือน ใช้เครื่องมือ ESAS และ EQ-5D-5L เก็บรวบรวมข้อมูลโดยโปรแกรม R8-COT กลุ่มตัวอย่าง 224 คน ใน 9 กลุ่มโรค/อาการ ได้แก่ มะเร็ง สะเก็ดเงิน สันนิบาตลูกนก (พาร์กินสัน) เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ลมปะกัง (ไมเกรน) ปวดเรื้อรัง ริดสีดวงทวาร ภูมิแพ้/SLE ใช้วันละครั้ง (ก่อนนอน) ครั้งละ 2 หยด (ปรับยาไม่เกิน 3 หยด) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มโรค/อาการที่มีการสั่งใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ลดปวดไมเกรน (ลมปะกัง) ร้อยละ 46.88 บรรเทาอาการปวด ร้อยละ 29.0 ช่วยให้นอนหลับ ร้อยละ 16.96 และพบอาการไม่พึงประสงค์ 6 ราย (ไม่รุนแรง) ซึ่งจะนำไปศึกษาเชิงลึกต่อไป
และเพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันเชื่อมั่น ในระยะต่อไปจะเป็นการศึกษาแบบ RCT ซึ่งสอดคล้องกับ พท.นราธิป วิเวกเพลิน แพทย์แผนไทยชำนาญการ สสจ.หนองคาย กล่าวเกี่ยวกับโครงการศึกษาประสิทธิผลของการใช้น้ำมันกัญชาขมิ้นทอง ในผู้ป่วยโรคไมเกรน เก็บข้อมูลจากคลินิกกัญชาในจังหวัดหนองคาย 9 แห่ง ผลการศึกษาพบว่า มีประสิทธิผลในการช่วยลดปวดศีรษะไมเกรน ทำให้ระยะเวลาการปวดสั้นลง โดยการใช้ขนาด 1 หยด ก่อนนอน เห็นผลในสัปดาห์ที่ 4 ในขณะที่การใช้ขนาด 2-3 หยด ก่อนนอน เห็นผลตั้งแต่สัปดาห์แรก ซึ่งต้องดำเนินการศึกษาต่อไป
ด้าน ดร.กรวิชญ์ สมคิด หัวหน้าห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์พืช สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องเริ่มต้นที่พันธุ์กัญชา เพื่อให้ได้สารที่มีคุณภาพนำไปผลิตยาทางการแพทย์ กัญชา หรือ Cannabis ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. แบ่งตามการใช้ประโยชน์เป็น 3 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มสร้างดอก (กัญชา กัญชง)
2) กลุ่มสร้างเส้นใย (กัญชง)
3) กลุ่มสร้างเมล็ด สำหรับผลิตน้ำมัน (กัญชง)
แบ่งตามสารสำคัญของพันธุ์กัญชา ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) THC สูง
2) CBD สูง
3) THC : CBD
สัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สายพันธ์กัญชาพันธุ์ไทย ที่มีข้อมูลลักษณะชัดเจน คือ หางกระรอก หางเสือ ตะนาวศรีก้านขาว ตะนาวศรีก้านแดง อิสระ01 กัญชงRPF1-8 ซึ่งต้องเลือกตัวเมียแท้ หรือตัวผู้แท้มาใช้ หากนำตัวกะเทยมาใช้จะได้ผลผลิตช่อดอกลดลง 70% ซึ่งเป็นความยากลำบากในการปลูก แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถคัดแยกได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน
ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนา โดยจะรับตรวจในราคาที่ถูก ประชาชน หรือผู้สนใจสามารถรับชม การประชุมวิชาการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (DTAM Forum) ได้ทุกสัปดาห์ วันจันทร์ หรือ วันอังคาร เวลา 13.30-16.00 น. โดยรับชมผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ ระบบ Zoom meeting