เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้ตรวจราชการกรม นายสุวรรณ์ ดวงตา ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน นายชาคริตย์ เดชา ผู้ตรวจราชการกรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางอุดมลักษณ์ สอนสารี ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดินทางไปราชการรัฐอิสราเอล โดยได้พบปะและหารือข้อราชการกับเจ้าหน้าที่ประสานงานความปลอดภัยท้องถิ่นของเขต Eshkol ทางตอนใต้ติดชายแดนอิสราเอล-กาซ่า พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hamas บริเวณฉนวนกาซ่า มาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แรงงานไทยในพื้นที่ที่มีอยู่ราว 2,500 คน ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานได้แสดงความห่วงกังวลกรณีที่แรงงานไทยมักไม่ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของหน่วยงานความปลอดภัยของอิสราเอลเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และได้ขอให้ทางอิสราเอลดูแลความปลอดภัยให้แก่แรงงานให้เต็มที่ หลังจากนั้นได้พบปะและให้กำลังใจแรงงานไทยทั้ง 7 คน ที่ทำงานในศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร
จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ Moshav Ohad ทางตอนใต้ห่างจากชายแดนอิสราเอล-กาซ่า ไม่เกิน 10 กิโลเมตร มีคนงานประมาณ 50 คน ทำงานสวนมะเขือเทศ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและคณะได้แสดงความห่วงใยในการมาทำงานในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่สงบ โดยได้เน้นย้ำให้แรงงานไทยเชื่อฟังและปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอิสราเอลอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข ทั้งยาเสพติดและการพนัน ตั้งใจขยันทำงาน และเก็บเงินเพื่อส่งกลับครอบครัว พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่แรงงานไทยก่อนเดินทางกลับอีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจำนวน 24,783 คน โดยเป็นแรงงานไทยทำงานภาคเกษตรจำนวน 22,539 คน ผู้ทำงานในประเภทผู้เชี่ยวชาญ พ่อครัว/แม่ครัว และช่างเชื่อม ดูแลคนชราหรือผู้พิการ งานก่อสร้าง และอื่น ๆ จำนวน 403 คน ที่เหลือเป็นแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 1,841 คน ส่วนแผนอพยพแรงงานไทยกรณีเกิดภัยสงคราม ได้กำหนดจุดรวมพลสำหรับเคลื่อนย้ายแรงงานไทยออกมายังพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอล 2 จุดคือ จุดแรกเคลื่อนย้ายแรงงานไทยจากเขต Ashkelon ไปยังโมชาฟ Ramat Nagev อยู่ทางภาคใต้ตอนล่างของอิสราเอล ห่างจากชายแดนประมาณ 100 กิโลเมตร รองรับแรงงานไทยได้ประมาณ 5,000 คน และจุดที่ 2 เคลื่อนย้ายแรงงานไทยจากเขต Eshkol ไปยัง เมือง Bnei Netsarim อยู่ทางตอนใต้สุดของอิสราเอล ติดกับชายแดนประเทศอียิปต์ ห่างจากพื้นที่ที่ประท้วงประมาณ 20 กิโลเมตร สามารถรองรับแรงงานไทยได้ราว 1,000 – 2,000 คน ทั้งนี้ หากแรงงานไทยประสงค์จะเดินทางกลับ ฝ่ายแรงงานฯ จะดำเนินการประสานไปยังสนามบินที่เปิดให้บริการและส่งกลับประเทศไทยต่อไป